นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2568 การ ส่งออก ยังคงเป็นเครื่องจักรสำคัญหลักในการผลักดันเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ความแปรปรวนของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ ปริมาณการค้าที่ขยายตัวลดลงจากการใช้นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวน
แม้ว่าในปีนี้จะมีปัจจัยท้าทายหลายอย่าง แต่เชื่อมั่นว่าจากการทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดของกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน ที่ขับเคลื่อนตาม 10 นโยบายของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะช่วยให้ไทยสามารถคว้าโอกาสในการส่งออกและบรรลุตามเป้าการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 2-3 เป็นมูลค่าระหว่าง 305,315 – 308,308 ล้านเหรียญสหรัฐตามที่ตั้งไว้ในปี 2568
โดย สนค. ได้วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกรายสินค้าด้วยอนุกรมเวลา (Time Series Model) พิจารณาควบคู่กับอัตราการเปลี่ยนแปลงหน่วยย่อยต่อภาพรวม (Contribution to growth) และสถานการณ์ที่จะกระทบต่อการค้าในอนาคต โดยสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี 10 อันดับในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและ 10 อันดับในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ของปี 2568 มีดังนี้
10 สินค้าส่งออกอุตสาหกรรมดาวรุ่งในปี 2568 ได้แก่
1.เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน
2. อัญมณีและเครื่องประดับ
3. ผลิตภัณฑ์ยาง
4.เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
5.หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ
6.เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
7.เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ โทรทัศน์
8.แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า
9. เคมีภัณฑ์
10. แผงวงจรไฟฟ้า
โดยสินค้าเหล่าฟื้นตัวตามวัฎจักร ความเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยี AI อุปกรณ์อัจฉริยะที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น และความต้องการของภาคการผลิตที่เร่งตัวก่อนการดำเนินมาตรการทางการค้า นอกจากนี้ยังมีสินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการปรับโครงสร้างการผลิตของไทย เช่น Data Center การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เช่น แผ่นเวเฟอร์ (Wafer) หรือแผงวงจรไฟฟ้า (PCB) ยานยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ดี ในปี 2568 ไทยมีกลุ่มสินค้าที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากคาดว่าจะเป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ทั้งไทยและจีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ เหมือนกัน อีกทั้งเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่า 217,233.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.8 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด
สำหรับ 10 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรดาวรุ่งในปี 2568 ได้แก่
1. ผลไม้กระป๋องและแปรรูป
2. อาหารสัตว์เลี้ยง
3.อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
4. ไก่แปรรูป
5. ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ
6. ยางพารา
7. ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง
8.ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง
9. เนื้อและส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ที่บริโภคได้
10.นมและผลิตภัณฑ์นม
ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ตามความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เติบโตสอดรับการบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณผลผลิตการเกษตรจะออกมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้าและทยอยเข้าสู่ระดับปกติทำให้การแข่งขันด้านราคาสำหรับสินค้าเกษตรที่เป็น raw material แข่งขันรุนแรงขึ้น และการยกเลิกมาตรการระงับการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศผู้ส่งออกสำคัญของโลก
ดังนั้นไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเนื่องจากประเทศคู่แข่งมีผลผลิตและต้นทุนต่อไร่ที่ถูกกว่า อีกทั้งประเทศคู่ค้าบางประเทศมีมาตรการทางการค้าที่เข้มงวด โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ผู้ส่งออกของไทยต้องปรับตัวและบริหารจัดการต้นทุนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่า 48,390.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.5 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด