นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “ ชามไก่ลำปาง ” เป็นสินค้าสำคัญของจังหวัดลำปางที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน โดยชาวไทยเชื้อสายจีนได้นำวัฒนธรรมการปั้นดินเผามาเผยแพร่ในจังหวัดลำปาง ตั้งแต่ พ.ศ.2500 เมื่อผสานกับดินขาวและดินดำคุณภาพสูงในพื้นที่ จึงก่อให้เกิดการผลิตเซรามิกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เกิดเป็น “ชามไก่ลำปาง” ซึ่งเป็นผลงานที่สะท้อนถึงความประณีตบรรจงและความคิดสร้างสรรค์ของช่างฝีมือชาวลำปาง ที่วาดลวดลายไก่ ดอกโบตั๋น และต้นกล้วย ด้วยฝีมืออันเป็นเอกลักษณ์ ชามไก่ลำปางจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า และเป็นสิทธิชุมชนของจังหวัดลำปางมาจนถึงปัจจุบัน
นายอาวุธกล่าวว่า ภายหลังจากการขึ้นทะเบียน GI เมื่อปี 2554 กรมได้ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชามไก่ลำปางในมิติต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การเชิญนักออกแบบไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก อย่าง คุณโตส (นายปัญญวัฒน์ พิทักษวรรณ) มาออกแบบลายไก่ประยุกต์และบรรจุภัณฑ์เป็นนวัตกรรมการออกแบบที่ทำให้ชามไก่ลำปางมีความหลากหลายในเชิงรูปแบบและฐานลูกค้า ด้วยคุณภาพของสินค้าที่เป็นที่ยอมรับ และการผลักดันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทำให้สินค้า GI ชามไก่ลำปางสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ท้องถิ่นกว่า 200 ครัวเรือน
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันผู้ประกอบการต้องเผชิญกับความท้าทาย เช่น ปัจจัยด้านทรัพยากรดินขาวและดินดำในพื้นที่ที่เริ่มขาดแคลน ส่งผลให้ผู้ประกอบการ GI ชามไก่ลำปางมีจำนวนลดน้อยลง ประกอบกับทิศทางการค้าที่มีการแข่งขันสูงทั้งภายในและภายนอกประเทศ ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจและปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ กรมฯพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งในแง่ของการต่อยอดพัฒนาคุณภาพสินค้า ตลอดจนการสร้างแบรนด์สินค้าให้เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการต่อยอดมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม สร้างงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยการใช้ชื่อ “ชามไก่ลำปาง” หรือใช้ชื่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว เพื่อประกอบการจำหน่ายสินค้าโดยมิชอบ เข้าข่ายเป็นการละเมิดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งมีโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หากประชาชนพบเห็นการจำหน่ายสินค้าละเมิดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สามารถแจ้งเบาะแสผ่านทางเว็บไซต์ www.ipthailand.go.th หัวข้อบริการ “แจ้งเบาะแสการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา” หรือ โทรสายด่วน 1368