นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ( เงินเฟ้อ ทั่วไป) ของไทยเดือนมิถุนายน 2567 เท่ากับ 108.50 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2566 สูงขึ้นในอัตราชะลอตัวและอยู่ที่ 0.62 % และติดลบ 0.31% จากเดือนพฤษภาคม 2567 โดยเฉลี่ย 6 เดือนแรกปีนี้เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนไม่เปลี่ยนแปลง หรือ 0.0% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน(หักอาหารสดและพลังงาน) ลดลง 0.01% เทียบเดือนเดียวกันปีก่อน แต่สูงขึ้น 0.36% จากเดือนก่อนหน้า และ เฉลี่ย 6 เดือนสูงขึ้น 0.41% ซึ่งปัจจัยสำคัญต่อเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนปีนี้คือผลกระทบจากฐานต่ำของค่ากระแสไฟฟ้าในเดือนก่อนหน้าสิ้นสุดลงประกอบกับราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดสูงขึ้นในอัตราชะลอตัวเนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกหลังจากสิ้นสุดช่วงสภาพอากาศร้อนจัดขณะที่ราคาสินค้าและบริการอื่นๆส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
สำหรับเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน สูงขึ้น 0.62% มาจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาสูงขึ้น 0.48% อาทิ กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง กลุ่มอาหารสดบางรายการ กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน กาแฟ (ร้อน/เย็น)) และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำตาลทราย กะทิสำเร็จรูป น้ำพริกแกง) ขณะที่สินค้าราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร มะนาว ปลาทู น้ำมันพืช ไก่ย่าง ส้มเขียวหวาน หัวหอมแดง และกระเทียม เป็นต้น ขณะที่หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ราคาสูงขึ้น 0.71% จากราคาสินค้า กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน) ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (สุรา เบียร์)
ส่วนสินค้าราคาลดลง อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างห้องน้ำ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า (น้ำยาซักแห้ง) เสื้อยืดบุรุษและสตรี และเสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี เป็นต้น ทั้งนี้ รายการสินค้าในการคำนวณเงินเฟ้อ 430 รายการ ในจำนวนนี้ราคาสูงขึ้น 272 รายการ เท่าเดิม 53 รายการ และลดลง 106 รายการ
ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมนี้ น่าจะใกล้เคียงเดือนพฤษภาคม และแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาส 3 จะอยู่ระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 2 หรือทั้งไตรมาสสูงขึ้น 0.78% ซึ่งครึ่งปีแรกเงินเฟ้อไม่เปลี่ยนแปลงเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นไปตามภาวะและเหมาะสม มองว่ามีเสถียรภาพ ไม่ได้ฝืดเพราะขึ้นลงตามกลไกราคาสินค้าและมาตรการรัฐ ที่ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีนี้ในกรอบ 0.0-1.0% และค่ากลางสูงแค่ 0.5% จากแนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส4 ปีนี้เฉลี่ยต่อเดือนจะสูงเกิน 1% เพราะฐานปีก่อนต่ำและติดลบต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม หากปัจจัยเปลี่ยนแปลงก็อาจทบทวนคาดการณ์อีกครั้ง โดยจะมีปัจจัยมาจากค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า ตามมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ,สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อภาคการเกษตรมากขึ้น หลังจากสิ้นสุดช่วงอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ปริมาณผลผลิตและราคาสินค้าภาคการเกษตรปรับเข้าสู่ระดับปกติ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกรายใหญ่ รวมทั้งการค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ตามสภาวะที่มีการแข่งขันสูง
ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น จะมีทั้งราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน และความไม่แน่นอนจากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ราคาน้ำมันและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้า