รัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศผู้นําเข้าข้าวมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก ประกาศเตรียมลดอัตราภาษีนำเข้าอาหารหลัก ซึ่งครอบคลุมถึงข้าว จากอัตราในปัจจุบันที่ 35% มาเหลือเพียง 15% โดยมีผลบังคับใช้ไปจนถึงปี 2028 เพื่อเป้าหมายในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อของประเทศฟิลิปปินส์ ด้านนักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ และผู้เชี่ยวชาญวงการข้าวในประเทศฟิลิปปินส์ ล้วนประเมินว่ามาตรการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเวียดนาม ท่ามกลางการปล่อยให้เกษตรกรชาวนาในฟิลิปปินส์ต้องดิ้นรนเพื่อแข่งขันทีรุนแรงในอนาคต
มติดังกล่าวเป็นผลจากการประชุมของคณะกรรมการหลายฝ่าย ซึ่งนําโดยประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นายเฟอร์ดินัน มาร์คอส จูเนียร์ ด้านนายอาร์เซนดิโอ บาลิสแคน หัวหน้าสภาเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า การลดอัตราภาษีนำเข้าข่าวจะทำให้ประชาชนสามารถซื้อหาข้าวได้ง่าย และมีราคาถูกลง
ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์นั้น มีสัดส่วนที่ 9% เป็นราคาข้าว แต่รัฐบาลฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่าอาหารที่วัตถุดิบหลัก จะคิดเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของเงินเฟ้อในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะนี้ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในเดือนเมษายน โดยเพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา
มิเกล แชงโก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ตลาดเกิดใหม่ สำนักวิจัยแพนธีออน เศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยว่า มาตราการดังกล่าวทำให้ข้าวนำเข้ามีราคาถูกกว่าข้าวผลิตในประเทศ ย่อมส่งผลต่อเกษตรกรชาวนาฟิลิปปินส์ ในขณะเดียวกันก็จะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อในประเทศฟิลิปปินส์ลงมา สำหรับประเทศที่ได้ประโยชน์จากมาตรการลดภาษีนำเข้าคร่าวๆในครั้งนี้ได้แก่ประเทศที่ ปลูกและส่งออกข้าวในเอเชีย เช่น เวียดนาม และไทย อย่างไรก็ตาม โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม จะได้รับประโยชน์มากที่สุดเนื่องจาก ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากประเทศเวียดนามมากที่สุดเป็นอันดับ 1 มากถึง 80% ขณะที่อันดับ 2 ได้แก่ประเทศไทยมีสัดส่วนเพียง 10% ซึ่งห่างจากประเทศเวียดนามถึงกว่า 70% ตามด้วย เมียนมา ปากีสถาน อินเดีย จีน และอื่นๆ ตามลำดับ
องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เปิดเผยว่า 10 อันดับแรกของประเทศที่นำเข้าข้าวมากที่สุดในโลกในปี 2023 ได้แก่ ฟิลิปปินส์ สหรัฐ มาเลเซีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส แอฟริกาใต้ เยอรมนี ทูร์เกีย และเนเธอร์แลนด์ โดยฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวมีมูลค่ามากกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 55,500 ล้านบาท