ม.หอการค้าไทยชี้้เปรี้ยง ค่าแรงขั้นต่ำแตะ 400 บาท ทำเอกชนควักเพิ่มวันละ 300 ล้าน

ม.หอการค้าไทยชี้้เปรี้ยง ค่าแรงขั้นต่ำ แตะ 400 บาท ทำเอกชนควักเพิ่มวันละ 300 ล้าน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ส่งผลให้ภาคเอกชนมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น คาดการณ์ว่าค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาทจะมีจำนวนแรงงานได้ประโยชน์ราว 7.5 ล้านคน จากส่วนต่างค่าจ้างเทียบกับปัจจุบัน ซึ่งเพิ่มขึ้นอีก 40 บาท จึงทำให้ภาคเอกชนต้องจ่ายเพิ่มขึ้นราว 300 ล้านบาทต่อวัน หรือคิดเป็นต้นทุนต่อเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านบาท

ดังนั้น หากมีการเริ่มปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาทขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะทำให้ช่วงเวลาที่เหลือ 7 เดือนข้างหน้ามีเม็ดเงินราว 70,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระต้นทุนของเอกชนที่สูงขึ้นท่ามกลางกำลังซื้อในมือผู้ใช้แรงงานเพิ่มขึ้น

ผลสำรวจจากผู้ประกอบการภาคเอกชน ยอมรับว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาททั้งประเทศนั้น 67.4% มองว่าเป็นการไม่เหมาะสม มีเพียง 32.6% ที่ยอมรับว่าเหมาะสม ที่สำคัญ ค่าแรงในบางจังหวัดที่ขึ้นมาอย่างสูงเช่นนี้ จะทำให้ต้นทุนด้านค่าแรงของเอกชนในบางจังหวัดสูงขึ้นกว่า 10% ทันที ขณะที่ภาระของภาคเอกชนจะขึ้นมาทันที ได้แก่ ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ส่งผลให้เอกชนราว 64.7% จะปรับขึ้นราคาสินค้า และบริการ ประมาณ 15% ขึ้นไป และผู้ประกอบการราว 17.2% จะลดปริมาณหรือลดขนาด เนื่องจากผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับต้นทุนสูงขึ้น

อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการกว่า 48.7% กังวลมากกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่ทักษะการทำงานของลูกจ้างกลับเท่าเดิม นอกจากนี้ การส่งผลต่อไปยังเงินเฟ้อมีแน่นอน โดยการปรับที่เหมาะสมคือ ต้องปรับตามความสามารถในการทำกำไรของแต่ละธุรกิจ โดย 3.1.3% พิจารณาจากต้นทุน มี 25.3% พิจารณากำหนดค่าจ้างลอยตัว ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดแรงงาน และ 18.2% ปรับขึ้นตามจีดีพีประเทศ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles