จากกรณี เมื่อปี 2562 มีผู้ซื้อรถยนต์มาสด้า ซีเอ็กซ์ – 5 รุ่นสกายแอคทีฟ (Skyactiv) เครื่องยนต์ดีเซล ที่พบปัญหาในลักษณะเดียวกันคือ “น้ำดัน” และได้รวมตัวกันเพื่อยื่นฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มต่อบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 นั้น
สำหรับรายละเอียดในการชดเชยเยียวยา แบ่งเป็น 4 กรณี ดังนี้
1. มาสด้า ซีเอ็กซ์ – 5 รุ่นสกายแอคทีฟ เครื่องยนต์ดีเซล ทุกคัน จะได้รับการขยายระยะเวลารับประกันตลอดอายุการใช้งาน สำหรับอาการน้ำดัน และอาการที่สืบเนื่องจากอาการน้ำดัน ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามภายใต้เงื่อนไข คือผู้เสียหายต้องเข้ารับบริการที่ศูนย์มาสด้า ทุกๆ รอบระยะทาง 10,000 กิโลเมตรหรือ 6 เดือน และเปลี่ยนอุปกรณ์ตามตารางการบำรุงรักษารถที่กำหนดไว้ (ผู้บริโภคต้องเสียค่าบริการเอง) หากขาดการเข้ารับบริการศูนย์บริการมาสด้าทุกๆ รอบระยะทาง ให้ถือว่าสิทธิในการได้รับการขยายระยะเวลารับประกันจะสิ้นสุดทันที
2. รถยนต์ที่เกิดอาการน้ำดัน และเข้ารับการซ่อมบำรุงโดยศูนย์บริการมาตรฐานมาสด้า บริษัทฯ ยินดีคืนค่าบริการและค่าชิ้นส่วนอะไหล่ตามจำนวนที่ผู้เสียหายได้เสียไปจริง และชดใช้ค่าขาดประโยชน์ วันละ 1,000 บาท และ ค่ายินยอมให้เงินช่วยเหลือวันละ 750 บาท นับตั้งแต่วันที่รถเข้าซ่อมแซมและมีการออกใบสั่งซ่อม จนถึงวันที่ดำเนินการซ่อมเสร็จ ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไข ผู้เสียหายต้องแสดงหลักฐานเกี่ยวกับค่าบริการ รวมถึงจำนวนวันที่นำรถเข้ารับบริการซ่อมบำรุง
3. รถยนต์ที่เกิดอาการน้ำดัน และเข้ารับการซ่อมบำรุงโดยศูนย์บริการภายนอก บริษัทฯ จะชำระคืนค่าซ่อมบำรุง หรือค่าใช้จ่ายใดๆ ตามความเป็นจริง แต่การซ่อมแซมดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามวิธีที่บริษัทฯ กำหนดเท่านั้น และต้องแสดงหลักฐานการซ่อมแซมดังกล่าว หากในกรณีการซ่อมแซมไม่ถูกต้องตามวิธีที่บริษัทฯ กำหนด (เช่น การปาดหรือขัด หน้าฝาสูบ หน้าเสื้อสูบ) บริษัทฯ จะไม่รับผิดชอบหรือชำระคืนค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่บริษัทฯ ยินดีตรวจสอบและซ่อมบำรุงโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติม
4. รถยนต์ที่มีการดัดแปลงเครื่องยนต์ จะไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับการขยายระยะเวลารับประกันสำหรับอาการน้ำยาหล่อเย็นถูกดันออกทางถังพักน้ำสำรอง หรือ อาการน้ำดัน ตลอดอายุการใช้งาน แต่หากนำรถมาให้ศูนย์บริการมาสด้า ติดตั้งอุปกรณ์ให้กลับสู่สภาพเดิม แต่ต้องเสียค่าติดตั้งอุปกรณ์เอง และจะได้เข้าอยู่ในเงื่อนไขรับการขยายระยะเวลารับประกัน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม เพจ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า จิณณะ แย้มอ่วม ทนายความผู้ดูแลการฟ้องร้องคดีมาสด้า ซีเอ็กซ์ – 5 กล่าวว่า หลังจากมีการสอบโจทก์ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ใช้รถยนต์ เมื่อปี 2566 ประกอบกับมีข้อมูลจากต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย และไต้หวัน ที่พบว่าผู้เสียหายที่ใช้รถรุ่นดังกล่าวพบเจอปัญหาแบบเดียวกัน จึงทำให้บริษัท มาสด้า ตัดสินใจไม่สู้คดี และเลือกใช้วิธีพิจารณาประนีประนอมยอมความ
โดยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เผยแพร่ร่างประกาศเรื่อง “การพิจารณาให้ตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกัน ในคดีกลุ่ม Class Action) ของ มาสด้า ซีเอ็กซ์ – 5 (Mazda CX–5) รุ่นสกายแอคทีฟ (Skyactiv) เครื่องยนต์ดีเซล” ซึ่งผลพิจารณานี้จะผูกพันกับผู้บริโภคทุกคน ที่ใช้รถยนต์มาสด้า ซีเอ็กซ์ – 5 รุ่นสกายแอคทีฟ เครื่องยนต์ดีเซล ที่เกิดปัญหาน้ำดันโดยที่ไม่ต้องมีการสมัครหรือขอเข้าร่วมกลุ่ม
ทั้งนี้ หากพบปัญหาน้ำดันหลังจากประนีประนอมยอมความแล้ว ผู้ใช้รถยนต์มาสด้า ซีเอ็กซ์ – 5 รุ่นสกายแอคทีฟ เครื่องยนต์ดีเซลที่ทำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ข้างต้น คือเข้ารับบริการที่ศูนย์มาสด้า ทุกๆ รอบระยะทาง 10,000 กิโลเมตรหรือ 6 เดือน และเปลี่ยนอุปกรณ์ตามตารางการบำรุงรักษารถที่กำหนด จะได้รับได้รับค่าขาดประโยชน์ วันละ 1,000 บาท และค่ายินยอมให้เงินช่วยเหลือวันละ 750 บาท ในระหว่างช่วงที่ต้องนำรถเข้าศูนย์ด้วย
“การที่บริษัทกำหนดเงื่อนไข เพื่อที่บริษัทจะได้ควบคุมคุณภาพได้ตามมาตรฐานของบริษัท ซึ่งต้องเข้าใจในมุมมองของผู้ประกอบการว่า ถ้าจะให้บริษัทดูแลก็ต้องเป็นอยู่ในส่วนที่เขาสามารถดูแลติดตามควบคุมคุณภาพได้จริง ซึ่งถ้าเกิดปล่อยให้ไปอยู่ศูนย์นอก บริษัทจะไม่สามารถควบคุมคุณภาพการซ่อมของศูนย์นอกให้เป็นมาตรฐานได้กันทั่วประเทศ” จิณณะกล่าว
ผู้บริโภคที่ไม่เห็นด้วยกับการประนีประนอม ต้องแจ้งขอออกจากคดีกลุ่ม ภายในวันที่ 29 เมษายน 2567 (อ่านคำประกาศศาลได้ที่ https://civilbsc.coj.go.th/th/content/category/detail/id/21/iid/400884) และจะมีนัดฟังคำคัดค้านของสมาชิกกลุ่มในวันที่ 30 เมษายน 2567
ส่วนที่ต้องการขอรับการเยียวยาความเสียหายต้องเตรียมหลักฐานค่าใช้จ่ายที่เสียไปในการซ่อมกรณีน้ำดันของศูนย์บริการรถยนต์ยี่ห้อมาสด้า หรือศูนย์บริการภายนอก เพื่อเตรียมยื่นให้กับศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ภายใน 60 วัน หลังวันที่มีประกาศจากศาล