ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรยังพุ่งต่อเนื่อง วัยทำงานรูดจ่ายเพิ่ม 30%  สปอร์ต ฟิตเนส เฉลี่ยยอดจ่าย 400 ล้าน/เดือน ส่วน โรงพยาบาล 1,000 ล้านบาท/เดือน 

นางสาวสิรีรัตน์ คอวนิช ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต หมวดสุขภาพและความงาม บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยในงานเสวนา KTC FIT Talk ครั้งที่ 14 ว่า กระแสดูแลสุขภาพยังโตขึ้นต่อเนื่อง กลายเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ของคนยุคนี้ แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงก็ตาม โดยตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 แต่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและจำนวนลูกค้าที่ใช้บัตรเติบโตขึ้นมากกว่า 50% ทั้งคู่ จากที่บริษัทตั้งเป้าเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%

การดูแลตัวเองและการสร้างภูมิต้านทานกลายเป็นสิ่งสำคัญในช่วงโควิด-19 ร่วมกับมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้คนที่ติดอยู่ในบ้านหันมาริเริ่มออกกำลังกาย เป็นปัจจัยหลักที่มาผลักดันกระแสสุขภาพต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 20-29 ปี มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ทั้งในกลุ่มโรงพยาบาล สปอร์ต และฟิตเนส ชี้ให้เห็นถึงเทรนด์การหันมาสนใจดูแลสุขภาพเร็วขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย ปัจจุบัน มียอดใช้จ่ายอยู่ประมาณ 400 ล้านบาทต่อเดือน เฉพาะหมวดหมู่สปอร์ตและฟิตเนส และอีกประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ในส่วนของโรงพยาบาล

โดยในไตรมาส 1/68 ที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีมากนัก อาจจะมีการชะลอตัวในเรื่องการซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายเล็กน้อย แต่ในหมวดหมู่ฟิตเนสก็ยังเติบโตคงที่เรื่อย ๆ เห็นได้ว่าผู้บริโภคจะไม่ยกเลิกสมาชิกฟิตเนสและการจ้างเทรนเนอร์ส่วนตัวในแต่ล่ะเดือน ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ทำให้คนเลือกมาออกกำลังกายในฟิตเนสแทนที่กลางแจ้งด้วย

เช่นเดียวกับในหมวดหมู่โรงพยาบาลที่มีจำนวนลูกค้าและจำนวนการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งไม่สูง แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีการเข้าพบแพทย์บ่อยขึ้น ไม่ถึงกับต้องรอให้เจ็บป่วยหนักจึงจะเข้าโรงพยาบาล จากการสอบถามหลายโรงพยาบาล แพ็คเก็จการตรวจสุขภาพหรือฉีดวัคซีนจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษในช่วงนี้

ด้านนายแพทย์นรศักดิ์ สุวจิตตานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและการกีฬา โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ภายใต้ บมจ.สมิติเวช (SVH) เปิดเผยว่า โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ผู้เป็นพันธมิตรด้านสุขภาพกับ KTC มายาวนาน ก็มีการรองรับเทรนด์สุขภาพยุคใหม่ด้วยการเปิดตัว Samitivej Wearable Clinic บริการปรึกษาข้อมูลสุขภาพจากอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Devices) ที่เป็นที่นิยมกันในตอนนี้ เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ (Smartwatch) เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพเชิงรุก เน้นตรวจจับความเสี่ยงและสัญญาณผิดปกติในระยะเริ่มต้น (Early Detection)

ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อข้อมูลจากอุปกรณ์ผ่านแอปพลิเคชัน Well by Samitivej เพื่อประเมินสุขภาพเบื้องต้นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ด้วยแพทย์ที่มีความเข้าใจในเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้ง ครอบคลุมทั้งการนอนหลับ สุขภาพหัวใจ โภชนาการ การออกกำลังกาย และสภาวะอารมณ์ ซึ่งข้อมูลจากอุปกรณ์สวมใส่ เป็นดัชนีสำคัญที่ช่วยให้แพทย์เข้าใจสุขภาพผู้ป่วยได้ดีขึ้น เพราะเป็นข้อมูลที่ได้จากการใช้ชีวิตประจำวันจริง ๆ ของผู้ป่วย

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles