ยุคเสี่ยงโรค! คนไทยเสี่ยงเป็นโรค ‘ซึมเศร้า’ อันดับ 1 มะเร็งเต้านม-มะเร็งปอดตามมาติดๆ

ยุคเสี่ยงโรค! คนไทยเสี่ยงเป็นโรค ‘ซึมเศร้า’ อันดับ 1 มะเร็งเต้านม-มะเร็งปอดตามมาติดๆ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2566 และภาพรวมปี 2566 ว่า ปัญหาด้านสุขภาพและการเจ็บป่วยไตรมาส 4/2566 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังมีจำนวนผู้ป่วย 3.4 แสนคน เพิ่มขึ้น 170% จากการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่และโรคไข้เลือดออก ดังนั้น จะมีการดูแลด้านการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามากขึ้น สำหรับภาพรวมปี 2566 มีผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังรวม 999,243 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 116.7% และจำนวนผู้ป่วยสูงสุดคือโรคไข้หวัดใหญ่

นายดนุชา กล่าวว่า ขณะที่ส่วนต้องให้ความสำคัญมากขึ้นคือสุขภาพจิตของคนไทย โดยไตรมาส 4/2566 คนไทยป่วยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 จาก 12.92% เป็น 17.36% และภาพรวมปี 2566 เพิ่มสูงขึ้นจาก 12.81% ในปี 2565 เป็น 29.87% โดยมีปัญหาความเสี่ยงซึมเศร้ามากที่สุด
ดังนั้น เรื่องนี้ต้องให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังการใช้ความรุนแรงของผู้ป่วยจิตเวช เพราะมีความเสี่ยงสูงในการก่อความรุนแรงในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช โดยปี 2566 ผู้ป่วยจิตเวชมีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงจำนวน 9,639 รายเพิ่มขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 46.4%

ขณะเดียวกัน โรคมะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้หญิงไทย ปี 2566 ผู้หญิงไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมจำนวน 40,297 รายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกับจำนวนผู้เสียชีวิต ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงได้แก่การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ภาวะอ้วน การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และการไม่ออกกำลังกาย ดังนั้น ควรตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำและหากพบในระยะแรกเริ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้สูงถึง 95%

และปัญหาฝุ่น PM 2.5 ต่อสุขภาพของประชาชน ปี 2566 คนไทยมีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ 10.5 ล้านราย โรคที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสูงสุดคือโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังเพิ่มขึ้น 39.1% ซึ่งพบมากที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา แล้วรองลงมาคือ โรคมะเร็งปอดที่เพิ่มขึ้น 19.7% พบผู้ป่วยมากสุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 13 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศแล้ว 9.1 แสนราย

สำหรับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ในไตรมาส 4/2566 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น 2.8% โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 4.9% ขณะที่การบริโภคบุหรี่ลดลง 0.7% สำหรับภาพรวมปี 2566 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการฟื้นตัวของการบริโภคและการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ ที่อาจดึงดูดให้มีการเปิดสถานบันเทิงเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้นักดื่มมิโอกาสเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและการสูบบุหรี่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันและเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ”

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles