นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ในฐานะกรรมการ บจ.อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล (EBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (MRT สายสีเหลือง) ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และ บจ. นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล (NBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ล้อประคอง (Guide Wheel) หลุด เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบัน EBM และบริษัท อัลสตอม ประเทศไทย (Alstom Thailand) ผู้ผลิตได้ดำเนินการซ่อมบำรุง และเปลี่ยนชุดล้อประคองที่ผลิตในล็อตเดียวกับขบวนที่เกิดเหตุใหม่ทั้งหมดแล้ว ซึ่งหลังเปลี่ยนการใช้งานก็มีความมั่นใจมากขึ้นแล้ว โดยมีการเพิ่มความถี่ในการตรวจเช็ค ตรวจสอบอุปกรณ์ ตามที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เข้ามากำกับดูแล
ซึ่งจากรณีดังกล่าวทางบริษัท อัลสตอม ผู้ผลิต จึงได้มีการศึกษาวิเคราะห์ เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว โดยได้มีการออกแบบชุดล้อใหม่ ให้มีตัวล็อกเพิ่มขึ้นอีกชั้น ดังนั้นหากเกิดอุปกรณ์ยึดหลุดในชั้นแรก จะมีตัวล็อกอีกชั้นทำให้ล้อไม่หลุดร่วงลงมา รวมถึงเปลี่ยนวัสดุเป็นสแตนเลสอีกด้วย ทำให้การบริหารจัดการและการดูแลสะดวกมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มีการทดสอบเรียบร้อยแล้วที่โรงงานผลิต หลังจากนี้ ทางอัลสตรอมฯ จะเริ่มนำล้อชุดใหม่เข้ามาเปลี่ยนนำร่อง 1 ขบวนก่อน คาดว่าจะเริ่มทดสอบได้ในเดือน ส.ค. 2567 นี้ และเมื่อทดสอบจนมั่นใจแล้ว จะเริ่มทยอยเปลี่ยนล้อของสายสีเหลืองและสีชมพูเป็นชุดล้อใหม่ทั้งหมด
ทั้งนี้ในการปรับเปลี่ยนล้อชุดใหม่นี้ อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่จะเข้ามาดำเนินการและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาเปลี่ยนระยะหนึ่ง เพราะจะต้องทยอยเปลี่ยน สลับขบวนรถที่วิ่งให้บริการ ส่วนล้อชุดเดิมนั้น ยอมรับว่า การผลิตเป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ไม่สามารถเดินทางไปตรวจสอบได้ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การผลิตอาจจะมีปัญหาคุณภาพบ้าง
รถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีเหลืองและสีชมพูนั้น จะมีล้อหลักและล้อประคอง โดยล้อที่เกิดหลุดและหล่นลงมานั้น เป็นล้อประคองที่ช่วยทำให้รถวิ่งไปได้มั่นคง ซึ่ง 1 ขบวนจะมีจำนวน 48 ล้อ ซึ่งล้อประคองนี้ จะอยู่ด้านข้างทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 24 ล้อ ) ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีจำนวน 30 ขบวน รถไฟฟ้าสายสีชมพูมี 30 ขบวน