ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยภาพวิเคราะห์แนวโน้มการปิดตัวของโรงงานในประเทศไทยอาจรุนแรงขึ้น ทำให้การพลิกฟื้นภาคการผลิตของไทยจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน
ส่วนต่างของจำนวนโรงงานเปิดใหม่ และปิดตัวช่วง 6 เดือนแรกป 2567 นี้ เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 พบว่า ลดลง 109 แห่ง เป็นการส่งสัญญาณน่าเป็นห่วงในภาคการผลิตของไทย โดยจำนวนโรงงานเปิดใหม่และปิดตัวในช่วง 6 เดือนแรกของทั้ง 3 ปี ได้แก่ ปี 2565 มีส่วนต่างสุทธิที่ 569 แห่ง ซึ่งมาจากโรงงานเปิดใหม่จำนวน 1,032 แห่ง และปิดตัวจำนวน 463 แห่ง ในปี 2566 มีส่วนต่างสุทธิที่ 451 แห่ง ซึ่งมาจากโรงงานเปิดใหม่จำนวน 809 แห่ง และปิดตัวจำนวน 358 แห่ง และ ในปี 2567 มีส่วนต่างสุทธิที่ 342 แห่ง ซึ่งมาจากโรงงานเปิดใหม่จำนวน 1,009 แห่ง และปิดตัวจำนวน 667 แห่ง ดังนั้น ส่วนต่างสุทธิในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 กับ 2566 มีจำนวน 138 แห่ง และช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 กับ 2567 มีจำนวน 109 แห่ง
ที่น่าสนใจ คือ ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เทียบช่วงเดียวกันในปี 2567 พบว่า จำนวนการเปิดโรงงานใหม่เพิ่มขึ้น 200 แห่ง หรือเพิ่มขึ้น +24.72% แต่ในขณะที่ จำนวนโรงงานปิดตัวลงเพิ่มสูงขึ้นถึง 309 แห่ง หรือเพิ่มขึ้น +86.31%
นอกจากนี้ ในปี 2565 มีจำนวนโรงงานปิดตัว 1,108 แห่ง ต่อมาในปี 2566 มีจำนวนโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นอีกเป็น 1,744 แห่ง หรือเพิ่มขึ้น 636 แห่ง หรือเพิ่มขึ้น +57.04% ในขณะที่ ในปี 2565 มีจำนวนโรงงานเปิดใหม่ 2,207 แห่ง ต่อมาในปี 2566 มีจำนวนโรงงานเปิดใหม่เป็น 2,125 แห่ง ส่งผลมีโรงงานเปิดใหม่อยู่ที่ 82 แห่ง หรือลดลง -3.71%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยต่อไปว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นี้ มี 5 จังหวัดแรกที่มีจำนวนโรงงานปิดตัวลงมากที่สุด ได้แก่ ชลบุรี 118 แห่ง สมุทรปราการ 45 แห่ง กรุงเทพมหานคร 44 แห่ง ปทุมธานี 36 แห่ง และพระนครศรีอยุธยา 28 แห่ง
สำหรับประเภทอุตสาหกรรมของโรงงานที่ปิดตัวมากที่สุดใน 6 เดือนแรกปี 2024 นั้น ในด้านจำนวนโรงงาน ได้แก่ โรงโม่ บดย่อยหิน/โรงขุด อาหารและเครื่องดื่ม การทำยางขั้นต้น/ผลิตภัณฑ์ยาง อโลหะ และเหล็ก โลหะ ในแง่แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ได้แก่ แปรรูปไม้/ผลิตภัณฑ์กระดาษ ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การทำยางขั้นต้นและพลาสติก และเหล็ก โลหะ