ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าหลังการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของกนง. เมื่อปลายเดือนเม.ย. 2568 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในกลุ่ม D-SIBs หลายแห่งเริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR, MLR และ MOR ลง โดยรูปแบบของการปรับดอกเบี้ยของแบงก์ในรอบนี้เป็นการปรับลดดอกเบี้ย 2 ขา โดยธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทั่วไปบางตัวลงในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเช่นกัน
ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปที่การลดดอกเบี้ยของ กนง. 3 รอบที่ผ่านมา พบว่ามีการทยอยส่งผ่านมายังอัตราดอกเบี้ยและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ในระบบแบงก์ไทย เพราะแม้ผลในด้านหนึ่งจากการปรับลดดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนการระดมเงินฝากลดลง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็กดดันให้ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อลดลงตามไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงที่อานิสงส์จากการปล่อยสินเชื่อใหม่ยังมีจำกัดตามสัญญาณอ่อนแอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
เมื่อรวมผลของการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. 2568 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า NIM ของระบบแบงก์ไทยมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2/2568 มาอยู่ที่ 2.83% และประเมินว่า NIM ยังมีโอกาสลดลงต่อเนื่องอีกในช่วงครึ่งหลังของปี 2568
อย่างไรก็ดี ประเมินว่า ผลดีของการลดดอกเบี้ยรอบนี้จะอยู่ที่ลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจและรายย่อยที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงปรับดอกเบี้ย โดยคาดว่า สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อบุคคลที่มีหลักประกันอื่น ๆ ที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการลดดอกเบี้ยเงินกู้ก่อนสิ้นปี 2568 จะมีสัดส่วนประมาณ 56.6% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบแบงก์ไทย