ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล เปิดเผยการคาดการณ์ความต้องการซื้อ ทองคำ ในช่วงเดือน เมษายน 2568 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 331 ราย ในจำนวนนี้มี 212 ราย หรือเทียบเป็น 64% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำในเดือนนี้หรือไม่ ส่วนจำนวน 78 ราย หรือเทียบเป็น 24% คาดว่าจะซื้อทองคำ และจำนวน 41 ราย หรือเทียบเป็น 12% คาดว่าจะไม่ซื้อทองคำ
สรุปกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ มีจำนวน 12 ราย ในจำนวนนี้มี 8 ราย หรือเทียบเป็น 66% เชื่อว่าราคาทองคำในเดือนเมษายน 2568 จะเพิ่มขึ้น และจำนวน 2 ราย หรือเทียบเป็น 17% คาดว่าจะลดลง ส่วนจำนวน 2 ราย หรือเทียบเป็น 17% คาดว่าจะใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน มีนาคม 2568
สำหรับการคาดการณ์กรอบราคาทองคำในเดือน เมษายน 2568 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ ราคาทองคำตลาดโลก (Gold Spot) ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 2,914 – 3,171 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 49,100 – 51,900 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาท ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 34.01 – 35.02 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
การลงทุนทองคำในเดือน เมษายน 2568 การลงทุนทองคำยังคงได้รับแรงหนุนจากหลายปัจจัย ทั้งในด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะมาตรการภาษีใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจจุดชนวนสงครามการค้าและผลักดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น รวมถึงความตึงเครียดในภูมิภาคยุโรปตะวันออก ที่แม้มีสัญญาณการเจรจาระหว่างรัสเซีย–สหรัฐฯ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม จากสถานการณ์ของราคาทองคำที่มีความผันผวนสูง นักลงทุนควรระมัดระวังและวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ โดยใช้กลยุทธ์ทยอยซื้อสะสมในจังหวะที่ราคาทองคำย่อตัว และแบ่งขายทำกำไรเมื่อราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นในระดับแนวต้านสำคัญ ทั้งนี้ การถือครองทองคำยังถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายความเสี่ยงในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน