นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ฮอนด้าปรับแผนการปฏิรูปฟังก์ชันสายการผลิตรถยนต์ของไทย โดยประเมินว่าการปรับแผนการผลิตครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับยอดขายที่มีผลกระทบแน่นอน
ทั้งนี้ฮอนด้าถือเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นรายใหญ่ที่ยังไงก็ไม่ล้มง่ายๆ โดยการปรับโรงงานพัฒนาเป็นฐานการผลิตและส่งออกชิ้นส่วน ซึ่งใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีการผลิตก็เป็นไปตามเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป
“ที่ผ่านมาทุกแบรนด์ก็เป็นเหมือนกันทั้งจีน สหรัฐ ที่เคยยอดขายมีขึ้นมีลงตามเศรษฐกิจโลก จากเคยขายได้ 17 ล้านคัน เหลือ 9 ล้านคันก็มีมาแล้ว จึงเชื่อว่าฮอนด้าไม่ใช่ว่าจะยอดถอยง่ายๆ ซึ่งการทำธุรกิจปัจจุบันของทุกอุตสาหกรรมก็จะมีการปรับโครงสร้างทั้งภายในและภายนอกเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว” นายสุรพงษ์ กล่าว
สำหรับการประกาศปรับแผนธุรกิจ ของ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินการผลิตรถยนต์สำเร็จรูป รวมถึงเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ xEV หรือการนำพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม “e:HEV series” ซึ่งเป็นระบบฟูลไฮบริดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของฮอนด้า ที่มีสัดส่วนยอดขายเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยผลประกอบการในปี 2566 รถในกลุ่มนี้มีสัดส่วนการขาย 32% แต่ปี 2567 นี้ ฮอนด้าตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 70%และเพื่อให้คล่องตัวในการการดำเนินงาน บริษัทพร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแบบรวมศูนย์ โดยจะปฏิรูปแต่ละโรงงานของเราเพื่อยกระดับโครงสร้าง ประกอบด้วยโรงงานปราจีนบุรี จะพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป (CBU) ที่สมบูรณ์แบบ โดยการใช้ประโยชน์จากสายการผลิตที่ผสมผสานเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความสามารถในการรองรับธุรกิจ
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาฐานการผลิตทั้ง 2 แห่ง ก็เปิดสายการผลิตรถยนต์ด้วยกันทั้งคู่ โดยปัจจุบันโรงงานอยุธยามีความสามารถในการผลิตสูงสุด (capacity) 150,000 คัน/ปี โดยผลิต Accord, BR-V, HR-V, CR-V, Civic ขณะที่โรงงานปราจีนบุรี มีกำลังการผลิต 120,000 แสนคัน/ปี รองรับการผลิต Civic Hatchback, Jazz, City Sedan, City Hatchback และล่าสุด คือ การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV รุ่นแรกของฮอนด้า คือ e:N1