ส.อ.ท. ห่วงดอกเบี้ยสูง หนี้พุ่งทำธุรกิจสะดุด จากการแบกต้นทุน ส่วนต่างดอกเบี้ยกู้

ส.อ.ท. ห่วง ดอกเบี้ย สูง หนี้พุ่งทำ ธุรกิจ สะดุด จากการแบก ต้นทุน ส่วนต่างดอกเบี้ยกู้

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 37 ในเดือน ม.ค. 67 ในหัวข้อ “ดอกเบี้ยสูง หนี้พุ่ง อุตสาหกรรมไปต่ออย่างไร” โดยผู้บริหาร ส.อ.ท. ค่อนข้างมีความกังวลกับการที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะดำเนินนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% เป็นระยะเวลานาน ซึ่งต้องเข้าใจว่าที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พยายามอย่างมากที่จะสร้างสมดุลในการบริหารนโยบายการเงินของประเทศ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ และการเสริมสร้างเสถียรภาพของค่าเงินบาท แต่ดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบค่อนข้างมากกับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่ง เป็นผู้ประกอบการในประเทศที่มีสัดส่วนมากสุด และกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และต้องเร่งปรับธุรกิจเพื่อรับมือกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกตัวในช่วงปีที่ผ่านมา

ประเด็นเรื่องส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Spread) ของธนาคารพาณิชย์ที่มีความห่างมากเกินไปเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศในอาเซียน ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการชะลอการขยายธุรกิจหรือการลงทุนใหม่ เพิ่มความเสี่ยงขาดสภาพคล่องทางการเงินและการผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งกระทบต่อกำลังซื้อสินค้าของประชาชน ซึ่งผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่เสนอให้ ธปท. พิจารณาออกมาตรการกำกับดูแลตรวจสอบสถาบันการเงินในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ทั้งในส่วนของเงินฝากและสินเชื่อ รวมทั้งมีการประกาศกำหนดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) ที่เหมาะสมเพื่อช่วยลดต้นทุน ทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่ามาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบที่ภาครัฐอยู่ระหว่างดำเนินการนั้นจะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับประชาชน ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจที่สะสมมานานได้ในระดับปานกลาง โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเสนอให้ ภาครัฐออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อพัฒนาศักยภาพในกระบวนการผลิตและ เสริมสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งควรช่วยพิจารณาปรับลดเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อให้สะดวกยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ความคิดเห็นดังกล่าวเป็นผลสำรวจจากผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 230 ราย ครอบคลุมผู้บริหารจาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งความกังวลต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันกังวลปานกลาง 49.1% มาก 44.8% และกังวลน้อย 6.1%

ขณะที่กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย ควรมีบทบาทในการดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) ระหว่างเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์อย่างไรผลสำรวจพบว่า อันดับ 1 ออกมาตรการกำกับดูแลตรวจสอบสถาบันการเงิน 80.0% และประกาศกำหนดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) ที่เหมาะสม อันดับ 2 ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของสถาบันการเงิน 20.0% เป็นไปตามกลไกตลาด

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles