สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ชี้สถานการณ์ส่งออกช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มไม่สดใสตามที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงครบทุกมิติ มีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่มีปัจจัยบวกเพียงเรื่องเดียวคือเงินบาทอ่อนค่า โดยยังมั่นใจการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ 1-2% แต่ปรับเป้ามูลค่าลดลงจาก 287,407-290,253 ล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ 286,878-289,719 ดอลลาร์ โดยจะเป็นปีแรกที่เห็นยอดส่งออกในรูปแบบเงินบาทแตะ 10 ล้านล้านบาท
โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่
1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่จะมีผลต่อการค้าและเศรษฐกิจโลกในภาพรวม โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งผู้สมัครทั้งสองฝ่ายมีนโยบายหาเสียงที่แตกต่างกันและอาจส่งผลต่อมาตรการทางการค้าและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม
2. ปัญหาสหภาพแรงงานสหรัฐฯ ทั่วประเทศที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง อาจทำให้เกิดความขัดแย้งการหยุดการผลิตและกระทบต่อการนำเข้าสินค้าในภาคการผลิตกับประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทย
3. ต้นทุนค่าระวางเรือ ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ยังคงทรงตัวในระดับสูง แต่เริ่มมีสัญญาณการปรับลดลงในหลายเส้นทาง จากการที่การส่งออกสินค้าของจีนไปยังสหรัฐฯ เริ่มเติบโตในอัตราเร่งลดลงจากมาตรการกำแพงภาษีที่มีผลเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ทว่าปัจจัยเฝ้าระวังจากสถานการณ์ในพื้นที่ทะเลแดงยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญและมีอิทธิพลต่อเส้นทางขนส่งสินค้าเข้าไปตะวันออกกลางและยุโรป
4. ปัญหาสินค้าล้นตลาดจากประเทศจีนที่ระบายออกสู่ตลาดโลก ส่งผลให้สินค้าต้นทุนต่ำเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยอีกนัยหนึ่ง รวมถึงเข้าไปแย่งส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ
5.การเข้าถึงสินเชื่อของภาคการผลิตมีปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ขาดสภาพคล่องในการดำเนินการ
อย่างไรก็ดี สภาผู้ส่งออกได้เสนอให้ภาครัฐ เร่งปรับโครงการสร้างการส่งออกของไทย เพื่อรองรับการแข่งขันและการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว โดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Trading Nation ให้สำเร็จภายใน 3-5 ปี รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมส่งเสริมการขายในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และสร้างโอกาสให้สินค้าไทยในสายตาคู่ค้าและผู้บริโภคในต่างประเทศ และผู้ส่งออกต้องวางแผนการขนส่งด้วยการจองระวางเรือล่วงหน้า รวมถึงการเจรจากับคู่ค้าเพื่อปรับอัตราค่าขนส่งให้สอดคล้องกับค่าระวางในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกเส้นทาง รวมถึงต้องบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้เหมาะสม อีกทั้งรัฐต้องกำกับดูแลสินค้าการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ต้องเอื้อประโยชน์ให้กับซัพพลายเชนในประเทศ รวมถึงกำกับดูแลสินค้าต้นทุนต่ำที่ทะลักเข้ามาในประเทศก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศโดยเฉพาะ SMEs และปัญหาการจ้างงานลดลง ตลอดจนสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้เพียงพอต่อการหมุนเวียนกระแสเงินสดและการผลิตเพื่อการส่งออก
นอกจากนี้ สภาผู้ส่งออกยังเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งเขตปลอดอากรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นกฎหมายที่บังคับใช้มานานแล้ว ทำให้เกิดช่องโหว่ที่ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศเสียเปรียบทางการแข่งขัน เพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนจนกว่าจะขายสินค้าได้ โดยภาครัฐต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรมในเรื่องภาษีและมาตรฐานสินค้า ต้องทำระบบนิเวศที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการในประเทศ