สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก คงคาดการณ์การส่งออกไทยปี 67 ขยายตัวที่ 1-2% แม้ภาวะการส่งออกในเดือน เม.ย. ของไทย จะพลิกกลับมาโต 6.8% หนุนให้ 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. – เม.ย.) การส่งออกขยายตัวได้ 1.4%
อย่างไรก็ตาม มองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีปัจจัยเฝ้าระวังสำคัญ ได้แก่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และการตั้งกำแพงภาษีการค้า โดยเฉพาะระหว่างจีน-สหรัฐฯ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อภาคการส่งออกอย่างต่อเนื่อง และความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิต อาทิ ค่าแรงขั้นต่ำที่อยู่ระหว่างพิจารณาปรับขึ้น ต้นทุนพลังงาน อาทิ น้ำมัน และไฟฟ้า ค่าระวางเรือ (Freight) และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ปรับสูงขึ้นทุกเส้นทาง การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จากการเร่งผลิตและส่งออกของจีน กระทบต้นทุน และระยะเวลาการดำเนินการ
รวมทั้ง ผู้ส่งออกกกลุ่ม SMEs เริ่มประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากปรากฏการณ์เอลนีโญไปสู่ปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้มีความเสี่ยงต่อผลผลิตภาคการเกษตร
ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ประกอบด้วย
1) รัฐบาลต้องกำกับดูแลต้นทุนการผลิตเพื่อการส่งออก อาทิ ต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างขั้นต่ำ และค่าขนส่งสินค้า ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
2) ผู้ส่งออกต้องวางแผนการขนส่ง โดยการจองระวางล่วงหน้า รวมถึงการเจรจากับคู่ค้า เพื่อปรับอัตราค่าขนส่งให้สอดคล้องกับค่าระวางในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก รวมถึงต้องบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้เหมาะสม
3) รัฐบาลต้องบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากปรากฏการณ์เอลนีโญไปสู่ลานีญา
4) รัฐบาลต้องสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับ SMEs ให้เพียงพอต่อการหมุนเวียนกระแสเงินสด และการผลิตเพื่อการส่งออก
5) รัฐบาลต้องพิจารณาปรับปรุงและเพิ่มโควตาการนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อการผลิตเพื่อการส่งออก อาทิ กาแฟ มะพร้าว
6) รัฐบาลต้องเสริมสร้างภาพลักษณ์สินค้าไทยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้า และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง