นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวที่ 2.0-2.2% ซึ่งลดต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2.4-2.9% สาเหตุจากผลกระทบของมาตรการภาษีของรัฐบาลสหรัฐ หากประเมินว่าประเทศไทยถูกเก็บภาษีต่างตอบแทน หรือ Reciprocal Tariffs ที่อัตรา 10% ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่ลดลงชั่วคราวเป็นเวลา 90 วันนับตั้งแต่ประกาศลดลงในวันที่ 9 เมษายนเป็นต้นมา ซึ่งจากเดิมที่เก็บ 36% จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีของไทยเติบโตเพียง 0.3-0.9% จากเดิมคาดการณ์เดิมที่ 1.5-2.5%
นอกจากนี้ มาตรการภาษีของรัฐบาลสหรัฐจะกดดันภาคการส่งออก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและธุรกิจ SMEs ในไทย ภาษีดังกล่าวที่รัฐบาลสหรัฐประกาศเรียกเก็บจะกระทบสินค้าส่งออกหลายกลุ่ม ในกรณีที่เรียกเก็บภาษีต่างตอบแทน หรือ Reciprocal Tariffs เต็มเพดานที่ 36% มูลค่าส่งออกของประเทศไทยไปสหรัฐ อาจจะหายไปสะสมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี และในครึ่งปีหลังนี้ ตัวเลขจีดีพีจะโตเพียง 0.7-1.4% เป็นผลจากการส่งออกทั้งปี 2568 ของไทยอาจหดตัวได้มากถึง -2% นอกจากนี้ ยังเพิ่มแรงกดดันต่อกลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกจ้างประมาณ 3.7 ล้านคน และ SMEs เกือบ 5 พันราย ซึ่งต่างมีข้อจำกัดในการปรับตัวต่อภาวะผันผวนที่รุนแรงขึ้น
ที่สำคัญปัจจัยลบจากสงครามการค้าจะทำให้เกิดหลุมรายได้ขนาดใหญ่ถึง 1.6 ล้านล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องเจรจากับสหรัฐ เพื่อลดภาษีให้สำเร็จ ประกอบกับยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในภาวะที่ตลาดสินค้ามีการแข่งขันรุนแรงขึ้น