สภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่ค้านขึ้นค่าแรง 400 บาท ทำต้นทุนพุ่ง 10% เอสเอ็มอีส่อไปต่อไม่ไหว

สภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่ ค้านขึ้น ค่าแรง 400 บาท ทำต้นทุนพุ่ง 10% เอสเอ็มอีส่อไปต่อไม่ไหว

นายจักริน วังวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ เผยกระทรวงแรงงาน เลื่อนปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ จากวันที่ 1 พ.ค. เป็น 1 ต.ค. 67 ว่าไม่เห็นด้วย เพราะไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่มีมูลค่าลงทุนไม่สูงมากนัก โดยปัจจุบันเชียงใหม่ มีค่าแรงขั้นต่ำ 352 บาท/วัน ถ้าปรับค่าแรงเป็นวันละ 400 บาท ส่งผลให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น 10% และต้องจ่ายค่าประกันสังคมสมทบมากขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต ทำให้ค่าครองชีพของพนักงาน หรือลูกจ้างสูงตามไปด้วย

ปัจจุบันผู้ประกอบการได้ปรับค่าจ้างสำหรับแรงงานทักษะฝีมือมากกว่า 400 บาท/วันอยู่แล้ว อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบสื่อสาร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่เพิ่มมูลค่าส่งออก ถ้าปรับค่าจ้างแรงงานทั่วไปเป็นวันละ 400 บาท เชื่อว่าธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบมากที่สุด อาจถึงขั้นหยุดกิจการชั่วคราว หรือปิดกิจการ เนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไหวเพราะขาดสภาพคล่อง

ทั้งนี้หากรัฐบาลต้องการปรับค่าจ้าง ควรทยอยปรับเป็นรอบๆ เช่น เชียงใหม่ ค่าจ้างวันละ 352 บาท ปรับเป็น 355-360 บาท พร้อมหามาตรการชดเชยหรือเยียวยาผู้ประกอบการ อาทิ ลดค่าสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ลดภาษีนิติบุคคล และจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องดังกล่าว เพื่อทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีขับเคลื่อนไปได้ ที่สำคัญรัฐต้องควบคุมค่าจ้างแรงงานในระบบ กับนอกระบบ หรือแรงงานต่างด้าว ที่ไม่มีทักษะฝีมืออย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ได้ค่าจ้างเท่ากับแรงงานที่อยู่ในระบบ และเสียภาษีให้ประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายการปรับค่าจ้างต้องดูความพร้อมเศรษฐกิจและศักยภาพแข่งขันกับต่างชาติในเวทีโลกว่ามีความแข็งแกร่ง หรือยืดหยุ่นได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญต้องพูดคุยและเจรจาในไตรภาคี ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ก่อนประกาศเป็นทางการว่าค่าจ้างขั้นต่ำควรอยู่ในระดับใดที่เหมาะสม ไม่กระทบเศรษฐกิจในวงกว้างมากเกินไป เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไปข้างหน้าพร้อมกัน และเติบโตอย่างมั่นคงด้วย

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles