นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 เห็นชอบปรับปรุงโครงสร้างจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาดว่าจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ภายในสัปดาห์นี้ โดยจะประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต เครื่องแอลกอฮอล์ ประเภท ไวน์และสปาร์กลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น จากเดิมเก็บภาษีตามมูลค่า โดยราคาเกิน 1,000 บาท ที่ 10% ส่วนไวน์ที่ราคาไม่เกิน 1,000 บาท เก็บที่ 0% ปรับเป็นจัดเก็บอัตราภาษีเดียวที่ 5% และปรับลดอัตราภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์จาก 1,500 บาทต่อลิตร เหลือ 1,000 บาทต่อลิตร
ขณะที่ ภาษีฟรุ๊ตไวน์ หรือสุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่น หรือไวน์องุ่น จากเดิมเก็บภาษีตามมูลค่า โดยราคาเกิน 1,000 บาท ที่ 10% และสำหรับไวน์ที่ราคาไม่เกิน 1,000 บาท ที่ 0% ปรับเป็นอัตราเดียวที่ 0% ทั้งหมด ขณะที่การเก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ยังเท่าเดิมที่ 900 บาทต่อลิตร
รวมทั้งการเพิ่มพิกัดภาษีใหม่ สำหรับสุราแช่พื้นบ้าน เช่น อุ กระแช่ สาโท ที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี จากเดิมเก็บภาษีตามมูลค่า 10% ลดเหลือ 0% ขณะที่ภาษีตามปริมาณเก็บเท่าเดิม 150 บาทต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์ ส่วนสุราแช่ที่มีสุรากลั่นผสม เช่น โซจูที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี ให้เก็บภาษีตามมูลค่าที่ 10% เท่าเดิม แต่ขึ้นภาษีตามปริมาณจากเดิม 150 บาทต่อลิตร เป็น 255 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ การปรับลดอัตราภาษีไวน์มีเป้าหมายในการยกระดับภาคการท่องเที่ยว และกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่รับประทานอาหารกับไวน์ รวมทั้งที่ผ่านมาภาษีไวน์มีอัตราการจัดเก็บสูง ในขณะที่ราคาไวน์ในตลาดมีความหลากหลายจึงทำให้มีการหลีกเลี่ยงภาษี ดังนั้นเมื่อมีการบังคับใช้อัตราภาษีอัตราใหม่ ประเมินว่าจะทำให้เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นประมาณ 900 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 1,500 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้กรมสรรพสามิตยังได้นำระบบดิจิทัลมาใช้ในการตรวจสอบไวน์บนอากรแสตมป์ โดยผู้บริโภคสามารถแสกนเพื่อรับทราบข้อมูลไวน์ ตรวจสอบสินค้าปลอม รวมทั้งการเลี่ยงภาษี
ด้านนายนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวความคืบหน้าการลดอากรนำเข้าไวน์จากต่างประเทศเหลือ 0% เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำรายละเอียด และจะมีผลบังคับใช้เมื่อมีการประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษา