กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ได้ประกาศปรับเพิ่มขึ้นอัตราภาษีนำเข้าแผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ที่ผลิตและส่งออกจากภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประกอบไปด้วย ไทย 375.2% กัมพูชา 3,521% มาเลเซีย 34.4% และเวียดนาม 395.9% โดยให้มีผลทันทีในวันจันทร์ที่ 21 เมษายน 2025 ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา สาเหตุจากผลการสอบสวนโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทำการสอบสวนมาเป็นระยะเวลายาวนาน ปรากฏว่าบริษัทและโรงงานที่อยู่ในธุรกิจแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศกัมพูชา ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ได้รับประโยชน์จากการได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และทำการส่งออกสินค้าจากประเทศต้นทางทั้งสี่ประเทศไปยังประเทศสหรัฐสหรัฐอเมริกา ด้วยการตั้งราคาขายสินค้าแผงโซล่าเซลล์ในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ ดังนั้น การกระทำและพฤติกรรมดังกล่าวถือว่าเป็นการดำเนินงานให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
การสอบสวนดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยกระทรวงพาณิชย์ในยุคของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ นายโจ ไบเดน และภาคอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ทั้งหมดในประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับอัตราภาษีนำเข้าสินค้าแผงโซลาร์เซลล์ที่ประกาศในครั้งนี้ ให้บังคับใช้เพิ่มเติมจากอัตราภาษีต่างตอบแทน หรือ Reciprocal Tariffs ในประเภทสินค้าโซลาร์เซลล์ ตามที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศไปเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งในปัจจุบันมีประกาศชะลอการเก็บอัตราภาษีดังกล่าวเต็มเพดานสูงสุดของแต่ละประเทศเป็นเวลา 90 วัน
มาตรการเก็บขึ้นอัตราภาษีสินค้าโซลาร์เซลล์ในครั้งนี้ส่งผลให้บริษัทสัญชาติจีนซึ่งมีการตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศที่อยู่นอกเหนือทั้งสี่ประเทศดังกล่าวแต่มีโรงงานผลิตอยู่ในทั้งสี่ประเทศของกลุ่มอาเซียนนั้นจะต้องถูกเก็บอัตราภาษีเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติเช่น บริษัท จิงโก้ โซลาร์ ส่งออกสินค้าโซลาร์เซลล์จากประเทศเวียดนามจะต้องถูกเก็บอัตราภาษีเพิ่มขึ้นอีก 245% และส่งออกจากประเทศมาเลเซียจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มสูงขึ้นอีก 40%
บริษัทไทรนา โซลาร์ ซึ่งตั้งโรงงานผลิตแผงโซล่าเซลล์ในประเทศไทยจะถูกเก็บภาษีสินค้าประเภทดังกล่าวนำเข้าสูงขึ้นอีก 375% และเมื่อส่งออกจากประเทศเวียดนามจะต้องถูกเก็บภาษีสูงขึ้นมากกว่า 200% ด้านบริษัทเจเอ โซลาร์ ซึ่งส่งออกชิ้นส่วนของสินค้าแผงโซลาร์เซลล์จากประเทศเวียดนามจะถูกเก็บภาษีสูงขึ้นมากกว่า 120% เช่นกัน
ทั้งนี้ในปี 2024 ที่ผ่านมาประเทศสหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าแผงโซลาร์เซลล์จากทั้ง 4 ประเทศดังกล่าวในอาเซียน รวมเป็นมูลค่าสูงถึง 12,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 438,600 ล้านบาท