รายงานผลสำรวจดัชนีความสุขโลกปี 2025 หรือ Ipsos Happiness Index 2025 จากสถาบันวิจัยอิพซอส Ipsos ที่มีชื่อเสียงระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำการสำรวจข้อมูลประชากรใน 30 ประเทศทั่วโลก พบว่าคนไทยมีถึง 61% ระบุว่าค่อนข้างมีความสุข โดยระดับความสุขอยู่ที่อันดับ 7 จากการสำรวจในครั้งนี้ที่มีทั้งหมด 30 ประเทศ
เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชีย ซึ่งสำรวจเพียง 7 ประเทศ พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประชากรมีความสุขมากอยู่ในอันดับ 3 ด้วยสัดส่วนที่ 18% ประเทศไทยติดอันดับ 1 ในคำตอบว่าค่อนข้างมีความสุข และติดอันดับ 2 ในด้านความพึงพอใจในคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตาม ในแง่คำถามไม่มีความสุขเลย พบว่าคนไทยมี 2% ที่ไม่มีความสุขเลย ซึ่งรั้งรองสุดท้ายจากทั้ง 7 ประเทศ โดยประเทศอินโดนีเซียมี 1% ที่ไม่มีความสุขเลย ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้รั้งอันดับ 1 และ 2 ที่ 12% และ 10% ไม่มีความสุขเลยตามลำดับ
รายงานดัชนีความสุขดังกล่าวในปี 2025 เปิดเผยต่อไปว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้คนมีความสุข หรือไม่มีความสุข คือการเงิน ยังคงเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง ที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย คือสถานะทางการเงินมีอิทธิพลต่อความรู้สึกมากกว่าประเทศอื่น สะท้อนจากคนไทยมีความสุขอยู่ระดับกลาง แต่เงินยังเป็นเรื่องใหญ่ในกลุ่มประเทศเอเชีย
ความสัมพันธ์กับครอบครัวยังเป็นหัวใจหลักของความสุข เนื่องจากในภาพรวมจากการสำรวจใน 30 ประเทศทั่วโลกพบว่าความสัมพันธ์กับครอบครัว และ ความรู้สึกว่าได้รับความรัก เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้คนมีความสุข ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยและประเทศสวีเดน กลับให้น้ำหนักไปที่การเงิน ซึ่งประชาชนในทั้ง 2 ประเทศมองว่าการเงินเป็นตัวขับเคลื่อนความสุขหลัก ซึ่งสะท้อนสภาพเศรษฐกิจและความมั่นคงในชีวิตที่ยังคงมีผลอย่างมากต่อความรู้สึกของผู้คน
เมื่อดูปัจจัยที่ทำให้ผู้คนแต่ละประเทศส่วนใหญ่ ระบุว่า มีความสุข หรือไม่มีความสุขนั้น สำหรับปัจจัยที่ทำให้มีความสุข มี 5 อันดับ ดังนี้ อันดับ 1 มี 36% ความสัมพันธ์กับครอบครัว อันดับ 2 มี 35% การได้รับความรัก/เห็นคุณค่า อันดับ 3 มี 25% การควบคุมชีวิตของตัวเองได้ อันดับ 4 มี 25% สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ และอันดับ 5. มี 24% สถานะทางการเงิน
ในส่วน 5 อันดับของปัจจัยที่ทำให้ไม่มีความสุข ได้แก่ อันดับ 1 มี 58% สถานะทางการเงิน อันดับ 2 มี 30% สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ อันดับ 3 มี 25% สุขภาพร่างกาย อันดับ 4 มี 23% สภาพเศรษฐกิจในประเทศ อันดับ 5 มี 19% ความรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมาย
สถาบันวิจัยอิพซอส Ipsos เปิดเผยต่อไปว่า ช่วงอายุใดที่คนมีความสุขที่สุด พบว่าผู้หญิงมีความสุขคงที่ตลอดชีวิต ในทางตรงกันข้ามผู้ชายจะมีความสุขพุ่งสูงสุดในวัย 60 ปีขึ้นไป ถึงแม้ว่าผู้ชายจะมีความสุขสูงสุดในวัย 20 ปี ซึ่งเป็นช่วงระยะสั้นๆเท่านั้น นอกจากนี้ คนมักมีความสุขน้อยที่สุดในช่วงวัยกลางคน แต่เมื่ออายุเข้าสู่ 60-70 ปี ความสุขกลับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ผู้หญิงที่มีความสุขค่อนข้างคงที่มาตลอดชีวิต และจะพุ่งสูงสุดในช่วงหลังเกษียณ
ทั้งนี้ ภาพรวมของรายงานในปี 2025 นี้ที่มีทั้งหมด 30 ประเทศ สรุปได้ว่า ประเทศอินเดียครองอันดับ 1 เนื่องจากประชาชนอินเดียยอมรับว่ามีความสุขในภาพรวมถึง 88% อันดับ 2 เนเธอร์แลนด์ (86%) ขณะที่ประเทศฮังการีติดอันดับประเทศที่มีความสุขต่ำที่สุด (45%) ประเทศตุรกีเป็นประเทศที่มีความสุขลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2011 โดยลดลงถึง 40%