น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.เป็นห่วงการปล่อย สินเชื่อ ของธนาคารพาณิชย์ที่ยังมีความระมัดระวัง ส่งผลให้สินเชื่อโดยรวมลดลง รวมทั้งหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์รวมบริษัทในเครือไตรมาส 3 ปี 67 หดตัว 2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่ขยายตัว 0.3% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี 53 หรือ หดตัวครั้งแรกในรอบ 14 ปี
ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL หรือ stage 3) สิ้นไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 553,400 ล้านบาท คิดเป็น 2.97% ของสินเชื่อรวม โดยเป็นการเพิ่มขึ้นหลักๆของสินเชื่ออุปโภคบริโภค การชะลอลงของสินเชื่อไตรมาสนี้เกิดจากการชำระคืนหนี้ที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการจ่ายคืนหนี้ของภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการออกตราสารหนี้แทนการใช้เงินสินเชื่อ ส่วนการให้สินเชื่อใหม่ยังมีต่อเนื่องในธุรกิจขนาดใหญ่ในภาคบริการ อสังหาริมทรัพย์ พาณิชย์ แต่สินเชื่อภาคธุรกิจที่มีปัญหาความสามารถในการแข่งขันยังคงหดตัว โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ โดยไตรมาส 3 สินเชื่อธุรกิจหดตัว 2.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคหดตัวลง 1% จากปีก่อน โดยสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวขึ้นเพียง 2.7% จากที่ขยายตัว 5.8% ในไตรมาส ก่อนขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัย ขยายตัว 0.4% สินเชื่อบัตรเครดิตหดตัว 2.4% หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อหดตัวมากสุด 7.6% จากการชะลอตัวของธุรกิจยานยนต์ และการถูกยึดรถที่มากขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่ หากเทียบเงินที่ชำระคืนหนี้กับการให้สินเชื่อใหม่ ไตรมาส 3 ยังมีเงินใหม่เพิ่มเข้าไปในระบบแม้ไม่มาก
แต่หากเทียบกับไตรมาส 3 ปีก่อนที่มีการปล่อยสินเชื่อมาก ทำให้ยอดรวมไตรมาสนี้ติดลบ แต่คาดไตรมาส 4 สินเชื่อจะขยายตัวได้ แต่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังชะลอตัว เพราะรถใหม่ขายยาก รถมือ 2 ราคาตก เมื่อเกิดหนี้เสียเจ้าหนี้ขายรถได้ราคาต่ำทำให้ไม่คุ้มจึงระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
ทั้งนี้ รายได้ของคนไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และเศรษฐกิจที่ขยายตัวแตกต่างกันในแต่ละภาคธุรกิจ ส่งผลให้ NPL ธนาคารพาณิชย์ยังมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง โดย NPL 2.97% ในไตรมาสนี้ถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 64 ที่มีสัดส่วน 3.02% ที่ปรับเพิ่มส่วนใหญ่มาจากสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดย NPL เพิ่มขึ้นทั้งจากสินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต เช่าซื้อ และสินเชื่อบุคคล รวมทั้งสินเชื่อเอสเอ็มอีที่วงเงินต่ำกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งธปท.กำลังติดตามความสามารถลูกหนี้รายย่อยสินเชื่ออุปโภคบริโภคใกล้ชิด ลูกหนี้ที่น่าเป็นห่วง ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่เคยได้รับการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว แต่อยู่ในกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวและมีหนี้สูง มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 30,000 บาท ลูกหนี้บ้านที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท และมีลูกหนี้ที่มีรายได้ 30,000-50,000 บาทต่อเดือนร่วมด้วย