Krungthai COMPASS เปิดเผยว่าภาพรวมการ ส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 5.8%YoY เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 0.3%YoY การส่งออกไปตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 9% และ 7% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่องที่ 16.1%YoY และ 16.1%YoY ตามลำดับการขยายตัวดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากฐานที่ต่ำในปีก่อนประกอบกับแรงหนุนจากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าในกลุ่มอาหารเพิ่มขึ้นเช่นข้าวไก่แปรรูปอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปเป็นต้น
อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุด คิดเป็นสัดส่วน 27% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องที่ -3.6%YoY จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้ง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาสูงเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ทั่วไป ประกอบกับผลกระทบของภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตผลไม้ออกสู่ตลาดลดลง
โดยในหมวดสินค้าเกษตรขยายตัวต่อเนื่องที่ 8.3%YoY (สัดส่วนราว 54% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด) โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว (53.0%YoY) ไก่ (4.2%YoY) และยางพารา (37.3%YoY) การขยายตัวส่วนหนึ่งเกิดจากฐานที่ต่ำในปีก่อน และราคาส่งออกที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่กลุ่มสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ มันสำปะหลัง (-10.4%YoY) และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง (-3.5%YoY) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
ด้านหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรพลิกกลับมาขยายตัว 2.4%YoY (สัดส่วนราว 46%) โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง (33.3%YoY) สิ่งปรุงรสอาหาร (8.4%YoY) และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (4.1%YoY) การขยายตัวส่วนหนึ่งเกิดจากฐานที่ต่ำในปีก่อน ประกอบกับความต้องการนำเข้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปในตลาดตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น จากความกังวลต่อสงครามระหว่างอิหร่านและอิสราเอลที่ยืดเยื้อ ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัวแรง ได้แก่ น้ำตาลทราย (-39.5%YoY) ส่วนหนึ่งจากฐานที่สูงในปีก่อน เนื่องจากราคาส่งออกในปีที่แล้วที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก
มูลค่าการส่งออกข้าวไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 53.0%YoY จากปริมาณการส่งออกข้าวโดยรวมที่ขยายตัว 31.4%YoY และราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยโดยรวมที่มีการปรับเพิ่มขึ้น 16.5%YoY โดยเฉพาะราคาส่งออกข้าวขาว 5% ที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 21.4%YoY จากนโยบายการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดีย รวมถึงยังได้รับอานิสงส์จากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ประกอบกับปริมาณการส่งออกที่ขยายตัว 20.5%YoY ทำให้มูลค่าการส่งออกข้าวขาว 5% ยังคงขยายตัวดีที่ 51.7%YoY เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิที่ขยายตัว 22.6%YoY จากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัว 21.0% YoY จากฐานที่ต่ำในปี 2566 เป็นหลัก ประกอบกับราคาส่งออกที่ปรับขึ้น 1.3%YoY จากอานิสงส์ของเอลนีโญในช่วงครึ่งปีแรก แต่ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าข้าวชนิดอื่น เนื่องจากยังคงมีการแข่งขันกับข้าวชนิดอื่นในตลาดส่งออก เช่น ข้าวพันธุ์พื้นนุ่มของเวียดนามที่มีราคาถูกและรสชาติดี
มูลค่าส่งออกยางแผ่นและยางแท่งไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ขยายตัว 40.7%YoY เนื่องจากปริมาณการส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว ไม่ว่าจะเป็นจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 1 คิดเป็น 39.8% ของการส่งออกยางแผ่นยางแท่งทั้งหมดของไทยขยายตัว 30.6%YoY รวมทั้งสหรัฐที่เพิ่มขึ้น 28.8% และญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น 62.0%YoY ตามลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อน รวมทั้งยังได้รับอานิสงส์จากยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัว 22.0%YoY ขณะที่ราคาส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.4%YoY จากผลกระทบของปรากฎการณ์เอลนีโญในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ปริมาณน้ำยางในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้อุปทานยางพาราต่ำกว่าความต้องการใช้ยางพาราของโลก
ขณะที่ มูลค่าส่งออกน้ำยางข้นเพิ่มขึ้น 25.3%YoY ตามราคาส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น 35.4%YoY ซึ่งเป็นผลจากสภาวะเอลนีโญในช่วงครึ่งปีแรกเช่นกัน แต่ปริมาณส่งออกน้ำยางข้นลดลง -7.5%YoY ตามการส่งออกไปจีนซึ่งคิดเป็น 35.0% ของตลาดส่งออกน้ำยางข้นทั้งหมดหดตัวลงถึง -48.8%YoY เนื่องจากความกังวลปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่อาจกระทบการส่งออกถุงมือยางจากจีนไปสหรัฐฯ ทำให้จีนชะลอนำเข้าน้ำยางข้นซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยาง