ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไทยปีนี้มีโอกาสโตกว่า 19.5% แตะ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยสถานการณ์ธุรกิจ อาหารสัตว์เลี้ยง พบว่า มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามความนิยมเลี้ยงสัตว์ในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีปัจจัยสำคัญจากพฤติกรรมนิยมเลี้ยงสัตว์เสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่มีกำลังซื้อสูงและพร้อมที่จะจ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยงอาทิสหรัฐฯและสหภาพยุโรปอีกทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทั้งจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเช่นญี่ปุ่นเยอรมนีรวมถึงสภาพสังคมที่มีขนาดครอบครัวเล็กลงไม่แต่งงานหรือมีบุตรลดลงเช่นออสเตรเลียนิวซีแลนด์ส่งผลให้ความนิยมเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยไปตลาดโลกปี 2024 อาจอยู่ที่ 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 19.5% เทียบกับปีก่อนที่หดตัวถึง 15.0% (รูปที่ 2) โดยเป็นการเติบโตทั้งในฝั่งของปริมาณความต้องการ ที่ทยอยฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ ประกอบกับความนิยมเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลกและมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมเกษตรและประมงที่มีอยู่ในประเทศเช่นแป้งธัญพืชเศษอาหารทะเลและฝั่งของราคาที่ขยับขึ้นตามต้นทุนการผลิตอาทิค่าแรงงานบรรจุภัณฑ์ขนส่งไฟฟ้า

ตลาดหลักยังเป็นตัวผลักดันการเติบโตของการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2024  ได้แก่ สหรัฐฯและอิตาลี คิดเป็นสัดส่วน 34% ของมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมด ซึ่งน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้หลังจากหดตัวสูงในปีก่อน จากปริมาณสินค้าเหลือคงค้างในระดับสูงได้ปรับลดลง และความต้องการทยอยปรับขึ้น และ ญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 16% ของมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมด คาดว่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง แต่อยู่ในทิศทางที่ชะลอตัว จากความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและราคาต่อหน่วยสูงขึ้น จากความใส่ใจเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพสัตว์มากขึ้น แม้จำนวนสัตว์เลี้ยงจะลดลง

ขณะที่ตลาดรองที่มีส่วนแบ่งตลาดน้อย แต่มีศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง อาทิ อังกฤษ ที่จำนวนสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัข ซึ่งมีมากที่สุดในแถบยุโรปและ นิวซีแลนด์ ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งนอกจากอานิสงส์จากข้อตกลงทางการค้า FTA ไทยนิวซีแลนด์ ที่ทำให้ได้เปรียบด้านราคาแล้ว นิวซีแลนด์ยังเป็นประเทศที่เลี้ยงสัตว์ ในอัตราเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกเอื้อต่อการขยายตลาดของไทย

 แม้การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยปี 2024 อาจกลับมาฟื้นตัว แต่ระยะข้างหน้ายังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สำคัญ 3 ประเด็น คือ 

1) การแข่งขันกับคู่แข่งที่รุนแรง แม้ในตลาดหลักไทยจะครองตำแหน่งแหล่งนำเข้าอันดับ 1 แต่คู่แข่งอื่นๆก็มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะคู่แข่งที่มีความได้เปรียบด้านราคาและระยะขนส่งที่ใกล้

2) พฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้สอดรับไปกับตลาดเป้าหมาย อาทิ เทรนด์เลี้ยงสัตว์ในรูปแบบของ Pet Premiumization ที่เติบโตในตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ยังยอมลงทุนกับการใช้จ่ายเลือกซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงคุณภาพสูง เพื่อยกระดับดูแลสัตว์เลี้ยงให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น หรือรักษาชีวิตให้อยู่ยืนยาว

3) มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เข้มงวดมากขึ้นจากผู้นำเข้า เช่น การลดการปล่อยคาร์บอน (CO2) การตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้า (NTBs) กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ใช้วัตถุดิบที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ยั่งยืน (อาทิ ปลาป่น กากถั่วเหลือง) โดยเฉพาะตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

 ทั้งนี้ ไทยควรเจาะตลาดพรีเมียมรับเทรนด์ผู้บริโภคยอมจ่ายสูง เพื่อลดความเสี่ยงด้านการแข่งขันที่รุนแรง มาตรฐานทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่เข้มงวดขึ้น โดยการเร่งพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงในกลุ่มพรีเมียมหรือมีมูลค่าเพิ่มสูง ให้สอดรับกับเทรนด์บริโภคในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง อาทิ อาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพเทียบเท่าอาหารสำหรับมนุษย์ (Human Grade) อาหารสัตว์เลี้ยงออร์แกนิค อาหารสัตว์เลี้ยงจากโปรตีนทางเลือก (พืช/แมลง) อาหารที่มีคุณสมบัติเฉพาะ  รวมถึงการสร้างแบรนด์สินค้าที่เป็นของตัวเองให้มากขึ้น จากเดิมที่เน้นรับจ้างผลิต (OEM) ให้แบรนด์ชั้นนำของโลก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของจำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ขณะที่การผลิตภายใต้แบรนด์ไทยมีอยู่เพียง 20%เพื่อเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันให้เทียบเท่าผู้เล่นรายสำคัญของโลกอาทิเยอรมนีสหรัฐฯฝรั่งเศส

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles