นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ม.ค.2568 ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง มีมูลค่า 25,277 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.6% และเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 862,367 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 27,157.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.9% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 938,112 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 1,880.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 75,745.5ล้านบาท
สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 0.1% โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 3% สินค้าเกษตร ลด 2.2% โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ยางพารา ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ส่วนสินค้าหดตัว อาทิ ข้าว ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องดื่ม ผักกระป๋อง และแปรรูป
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 17% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด
ทางด้านตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ขยายตัว ตลาดหลัก เพิ่ม 11.2% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 22.4% จีน เพิ่ม 13.2% ญี่ปุ่น เพิ่ม 1.9% สหภาพยุโรป (27) เพิ่ม 13.8% อาเซียน (5) เพิ่ม 4.8% และ CLMV เพิ่ม 5.2% ตลาดรอง เพิ่ม 10.3% โดยเอเชียใต้ เพิ่ม 111.5% แอฟริกา เพิ่ม 13.9% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 21.6% และสหราชอาณาจักร เพิ่ม 9.8% ส่วนทวีปออสเตรเลีย ลด 26.9% ตะวันออกกลาง ลด 2.1% รัสเซียและกลุ่ม CIS ลด 5.7% ตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 472.8%
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกไตรมาสแรก คาดว่า จะยังขยายตัวเป็นบวก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโต ความขัดแย้งในยูเครนและตะวันออกกลางเริ่มคลี่คลาย ดัชนีราคาอาหารโลกปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น และมีการส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งจากการทดแทนสินค้าจากจีน และผู้นำเข้าสหรัฐฯ มีการเร่งนำเข้า เพราะไม่รู้ว่านโยบาย ทรัมป์ 2.0 จะเป็นอย่างไร ส่วนทั้งปี ยังคงยืนยันเป้าส่งออกที่ตั้งไว้ที่ 2-3%
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม ยังคงเป็นเรื่องสถานการณ์การค้าโลกที่ยังตึงเครียด จากความไม่แน่นอนของนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้กับทุกสินค้า หรือทุกประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งในส่วนของไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อันดับที่ 11 ของโลก และอันดับ 2 ในอาเซียน ก็ต้องจับตาดูว่าจะเป็นอย่างไร คาดว่า เม.ย.นี้จะเห็นภาพชัดเจน ซึ่งในส่วนของไทย ได้มีการเตรียมรับมือไว้แล้ว ทั้งการหาทางลดการขาดดุลการค้า เช่น การเพิ่มการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่นำเข้าอยู่แล้ว ทั้งข้าวโพด ถั่วเหลือง น้ำมันดิบ รวมทั้งยังมีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อสหรัฐฯ รอบใหม่ ราคาพลังงาน ค่าระวางเรือ จากมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย