นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนพ.ย. มีมูลค่า 25,608.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8.2 % ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 7.0 % การนำเข้า มีมูลค่า 25,832.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 0.9 % ส่งผลให้ไทยขาดดุล 224.4 ล้านดอลลาร์
โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เติบโตในระดับสูง สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของโลก ขณะที่การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวเชิงรุกของประเทศต่าง ๆ เพื่อรับมือกับพลวัตทางการค้ารูปแบบใหม่และความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก ยังเป็นแรงหนุนสำคัญที่ผลักดันให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ
ส่วนการส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 5.1 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.9
สำหรับภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 275,763.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.1 % ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 282,033.3 ล้าน ขยายตัว 5.7 % ดุลการค้า 11 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,269.8 ล้านดอลลาร์
ด้านตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ดีตามอุปสงค์การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของประเทศคู่ค้า ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์โลกและความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าในอนาคต
ส่วนการส่งออกในเดือนธ.ค.คาดว่า จะมีมูลค่า 24,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากรวมทั้งปีการส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 5.2 % แตะ 3 แสนล้านนดอลลาร์ ถือเป็นมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่ปี 65 ที่มีมูลค่าการส่งออก 287,400 ล้านดอลลาร์ สะท้อนความสำเร็จที่เหนือกว่าเป้าหมายที่วางไว้ อันเป็นผลจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินนโยบายเชิงรุก ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ
สำหรับแนวโน้มในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2-3 % ภายใต้บริบทความท้าทายที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ แนวโน้มการค้าโลกที่อาจชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย อัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวในระดับสูง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน