ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า สินเชื่อเช่าซื้อของระบบแบงก์ไทยปี 2567 แม้จะกลับมาเติบโตในแดนบวกที่ 1.5% ตามแรงหนุนจากยอดขายรถใหม่ แต่ก็ยังคงต่ำกว่าช่วง 5 ปีก่อน หรือก่อนเกิดโควิด-19 ที่โตกว่า 6% ต่อปี ในขณะที่หนี้เสียเช่าซื้อรถยนต์ หรือเอ็นพีแอลยังเป็นขาขึ้น
โครงสร้างตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยในไทยยังคงให้น้ำหนักมาที่ธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการสินเชื่อของบริษัทรถยนต์ และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินตามลำดับ โดยประเมินว่าสินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ประมาณ 60-65% ขณะที่ผู้ให้บริการสินเชื่อของบริษัทรถยนต์และผู้ให้บริการอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ประมาณ 35-40% ของสินเชื่อเช่าซื้อรวมทั้งตลาด
คาดว่าสัดส่วนสินเชื่อสำหรับรถใหม่ และรถมือสองจะอยู่ที่ประมาณ 80% และ 20% ตามลำดับ ซึ่งผู้เล่นหลักในตลาดรถมือสองจะเป็นผู้ให้บริการกลุ่มที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเป็นหลัก โดยเฉพาะนอนแบงก์และเต้นท์รถ ขณะที่ผู้ให้บริการกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะมีส่วนผสมของพอร์ตรถมือสองค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดกลาง
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อแนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อดังกล่าว จะมี 3 ส่วนหลัก คือ 1) แนวโน้มยอดขายรถใหม่ ซึ่งจะมีผลในการเติมสินเชื่อใหม่ 2) นโยบายการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของพอร์ตสินเชื่อเดิม โดยเฉพาะการตัดขายหนี้ ซึ่งจะมีผลลดยอดคงค้างสินเชื่อ และ 3) อัตราการชำระคืนของพอร์ตสินเชื่อเดิม ซึ่งขึ้นกับเงื่อนไขด้านการวางเงินดาวน์ตั้งต้น และระยะเวลา/จำนวนงวดการชำระคืนสินเชื่อ ปัจจัยนี้จะมีผลในการกำหนดความเร็วในการลดลงของยอดคงค้างสินเชื่อเช่นกัน
ในปี 2567 ตัวแปรที่จะมีผลต่ออัตราการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อว่าจะพลิกกลับมาแดนบวกได้หรือไม่ จากที่หดตัว -0.4% ในปี 2566 นั้น ขึ้นกับยอดขาย รถใหม่ และอัตราการตัดขายหนี้ของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ ในปีนี้คาดว่าจะมียอดขายรถใหม่ที่ 800,000 คัน เทียบกับ 776,000 คันในปี 2566 จะมีผลเหนืออัตราการตัดขายหนี้ปี 2567 ที่คาดว่าจะมีระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2566 สุดท้ายแล้ว จึงทำให้มีโอกาสเห็นยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อที่พลิกกลับมาขยายตัวที่ 1.5% สู่ระดับ 1.197 ล้านล้านบาทได้
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง และปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงและปัญหาอำนาการจซื้อ จึงทำให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อข้างต้นยังถือว่าเป็นไปอย่างจำกัด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนโควิดที่เห็นอัตราการขยายตัวที่กว่า 6% ต่อปี
สถานการณห์หนี้เสียเช่าซื้อยังต้องเฝ้าระวังโดยจากฐานข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าหนี้เสีย หรือ NPLs ของสินเชื่อเช่าซื้อฯ ในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากระดับ 22,300 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.89 ต่อสินเชื่อเช่าซื้อโดยรวม มาที่ 25,100 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.13 ต่อ สินเชื่อเช่าซื้อโดยรวม ณ สิ้นปี 2566
ในปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดคงค้างหนี้เสีย NPLs จะขยับขึ้นต่อเนื่อง จาก 25,100 ล้านบาทมาที่ 26,600 ล้านบาทซึ่งเป็นการเพิ่มในอัตราที่ชะลอลง ติดต่อกันเป็นปีที่สอง ทั้งนี้ เนื่องจากมีมุมมองว่าผู้ให้บริการจะเน้นหนักกับการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น และมีการตัดขายหนี้เสียต่อเนื่องและรวดเร็ว นอกจากนี้ พฤติกรรมการชาระหนี้ของลูกหนี้ในจังหวะที่มีรายได้เข้ามาเพื่อรักษารถไม่ให้ถูกยึด ก็ทำให้สถานะหนี้ยังไม่ไหลสู่หนี้เสียอย่างรวดเร็วเช่นกัน เมื่อผนวกกับฐานสินเชื่อที่ใหญ่ขึ้น คาดว่าจะทาให้สัดส่วนหนี้เสีย NPLs ต่อสินเชื่อเช่าซื้อรวมของระบบแบงก์ขยับขึ้นไปที่ร้อยละ 2.22 ต่อสินเชื่อเช่าซื้อโดยรวมในปี 2567 จากร้อยละ 2.13 ในปี 2566