นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในภาพรวมอยู่ในภาวะซบเซา เนื่องจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่ยังขายไม่ได้ มีทั้งจำนวนและมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพบว่าตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566 ถึงไตรมาส 1 ปี 2567 รวม 12 เดือน มีจำนวนที่อยู่อาศัยตกค้างจำนวน 213,429 หน่วย เพิ่มขึ้น 16.4% แลพคิดเป็นมูลค่า 1,217,916 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.5%
ในรายละเอียด จะพบว่า บ้านจัดสรรมีจำนวนหน่วยเหลือขายเพิ่มขึ้น 12.8% อาคารชุด หรือคอนโดมิเนียมมีจำนวนเหลือขาย เพิ่มขึ้น 22.3% สาเหตุจากอัตราดูดซับลดลง ที่สำคัญ คือมียอดขายต่ำกว่าช่วงโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลา 40 เดือน หรือกว่า 3 ปี ถึงจะขายหมด ขณะที่อัตราดูดซับในไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 3.5% หรือ ต้องใช้ระยะเวลาในการขายจนหมด 25 เดือน หรือ 2 ปีเศษ
เมื่อแบ่งแต่ละประเภทอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า ปริมาณบ้านและคอนโดมิเนียมมีจำนวน 229,048 หน่วย เพิ่มขึ้น 11.9% มูลค่า 1,307,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.1% เป็นผลมาจากยอดขายใหม่ (พรีเซลและสร้างเสร็จพร้อมโอน)ในปี 2566 ที่ชะลอตัว โดยเฉพาะระดับราคาไม่เกิน 7.5 ล้านบาท และในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว มีการเปิดตัวโครงการใหม่มูลค่าเพิ่มขึ้น 45% แต่จำนวนหน่วยลดลง ภาวะดังกล่าวส่งผลให้ในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า จำนวนหน่วยจากโครงการเปิดตัวใหม่ มีจำนวนหน่วยลดลงอยู่ที่ 16,356 หน่วย ลดลง 24.4% ขณะที่มีมูลค่าสูงถึง 119,232 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.3%
ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการเปิดตัวใหม่ของโครงการบ้านจัดสรร ที่เน้นโครงการบ้านเดี่ยวเป็นหลัก ซึ่งมีการเปิดขายโครงการใหม่เพิ่มขึ้นถึง 85.1% และมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 157.7% ขณะที่การเปิดตัวใหม่ในกลุ่มโครงการอาคารชุดลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า โดยจำนวนหน่วยลดลง -40.0% และมูลค่าลดลง -2.3% จากข้อมูลพบว่าโครงการใหม่ที่เปิดตัวไตรมาส 1 ปี 2567 ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มโครงการที่อยู่ในระดับราคาแพง
ส่วนยอดขายอสังหาริมทรัพย์ได้มาใหม่ พบว่า ยังคงมีอัตราการขยายตัวที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2566 โดยไตรมาส 1 ปี 2567 มียอดขายใหม่จำนวน 15,619 หน่วย ลดลง 26.6% มูลค่า 90,069 ล้านบาท ลดลง -14.5% ประกอบด้วย บ้านจัดสรรหน่วยขายใหม่ ลดลง -16.1% และอาคารชุดหน่วยขายได้ใหม่ ลดลง -39%