ศูนย์วิจัย SCB EIC ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่ามองไปในระยะ 5 ปีข้างหน้า จะมี 1 ใน 3 หรือ 33% ของครัวเรือนไทยที่มีหนี้จะยังไม่หลุดพ้นจากปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/เดือน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของครัวเรือนที่มีหนี้ (หรือราว 3 ล้านครัวเรือน)
อย่างไรก็ดี SCB EIC ประเมินว่า ยังมีลูกหนี้กลุ่มที่มีศักยภาพที่มีปัญหาการชำระหนี้ชั่วคราว แต่จะสามารถกลับมาคืนหนี้ได้เป็นปกติ หากได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมได้ทันเวลา แนวทางแก้หนี้ครัวเรือนไทยอย่างยั่งยืน จึงควรปรับให้ตรงกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่มอย่างครบวงจร และสร้างแรงจูงใจปรับพฤติกรรมให้กลับมาคืนหนี้ได้ ดังนี้
(1) กลุ่มที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ: “ให้เข้าถึง”ด้วยการดึงลูกหนี้นอกระบบเข้าสู่ในระบบผ่าน Risk-based pricing หรือการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้เพื่อให้เจ้าหนี้ในระบบสามารถช่วยเหลือลูกหนี้วงกว้างมากขึ้น การพัฒนาระบบสินเชื่อด้วยข้อมูลทางเลือก (Alternative data) เพื่อช่วยประเมินความน่าเชื่อถือของผู้กู้เพิ่มเติม การเพิ่มรายได้ผ่านการเสริมทักษะหรือเปลี่ยนอาชีพ และการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน เน้นพฤติกรรมที่ดีในการก่อหนี้และการจัดลำดับการชำระหนี้
(2) กลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือ แต่ยังไม่ฟื้นตัว: “ให้เริ่มฟื้น” ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้ครอบคลุมขึ้น การเพิ่มรายได้ผ่านการเสริมทักษะหรือเปลี่ยนอาชีพ รวมถึงการติดตามและให้คำปรึกษาทางการเงินเชิงรุก
(3) กลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือ และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้: “ให้ฟื้นต่อ” ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการฟื้นตัวในรูปแบบสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและอาชีพ การเสริมสร้างความรู้ทางการเงินเน้นสร้างวินัยทางการเงิน และการส่งเสริมการออม โดยภาครัฐสนับสนุนเงินออมสมทบตามสัดส่วน เพื่อสร้างนิสัยการออมระยะยาว
(4) กลุ่มที่มีความสามารถในการชำระหนี้ : “ให้มั่นคง”ด้วยการป้องกันความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ผ่านการติดตามสถานะลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง การสร้างแรงจูงใจทางการเงินให้ชำระคืนหนี้ล่วงหน้า ตลอดจนช่วยสร้างพฤติกรรมที่ดีส่งเสริมวินัยการออมระยะยาวเพื่อเพิ่มการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีผลตอบแทนเพียงพอต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ทุกกลุ่มสามารถ “จ่ายครบ จบหนี้” ได้อย่างยั่งยืน ควรมีแนวทางช่วยเหลือที่ครอบคลุมลูกหนี้ทุกกลุ่มเพิ่มเติม ต่อยอดจากมาตรการเฉพาะกลุ่มข้างต้น ได้แก่
(1) ขยายความครอบคลุมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้แบบร่วมจ่าย (Copayment) ระหว่างภาครัฐและเจ้าหนี้ในระบบแบบ Risk-sharing ให้ครอบคลุมทั้งลูกหนี้ Bank (รวม SFIs) และ Non-Bank ทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง รวมถึงเพิ่มแรงจูงใจให้ลูกหนี้อยากปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันผลักดันความครอบคลุมเพิ่มเติมบางส่วนแล้ว ในระยะต่อไปอาจพิจารณาแนวทางขยายความครอบคลุมให้กลุ่มลูกหนี้เปราะบางที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือได้อีกในอนาคต เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดหนี้ในภาคครัวเรือนไทย
และ (2) การสร้างฐานข้อมูลกลางสำหรับลูกหนี้ โดยใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลและติดตามสถานะลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปรับมาตรการช่วยเหลือได้เหมาะสมและทันการณ์