ศูนย์วิจัย SCB EIC ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย พบว่า หนี้ครัวเรือนนับเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ซึ่งจะฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต และปัญหาหนี้เสียอาจลุกลามไปยังภาคส่วนเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวมได้ โดย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 เศรษฐกิจไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 16.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 90.9% ของ GDP ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการสะสมของหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวสูงกว่าเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติ COVID-19 ที่ส่งผลให้รายได้หดตัวอย่างรุนแรง และฟื้นตัวกลับมาช้า ทำให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความท้าทายเป็นอย่างมาก
เกาหลีใต้มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงที่สุดในเอเชีย และสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 เกาหลีใต้มีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 1,885.3 ล้านล้านวอน หรือคิดเป็น 94.9% ของ GDP สาเหตุมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะเขตกรุงโซล และปริมณฑล ซึ่งเป็นศูนย์รวมของการจ้างงาน และการศึกษาในเกาหลีใต้ ทำให้ครัวเรือนจำเป็นต้องกู้ยืมเป็นมูลค่าสูงเพื่อจะสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้ นอกจากนี้ ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดการกู้ยืมมาเก็งกำไรที่อยู่อาศัยอีกด้วย สินเชื่อที่อยู่อาศัยในเกาหลีใต้จึงขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงก่อน COVID-19 และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หนี้ครัวเรือนโดยรวมปรับสูงขึ้นมาก
เมื่อเกิดวิกฤติ COVID-19 ขึ้น เกาหลีใต้ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทำให้รายได้รวมของระบบเศรษฐกิจหดตัวและต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวพอสมควร ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังขยายตัวจากราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในช่วงวิกฤติ COVID-19 ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 ของปี 2564 ของเกาหลีใต้ขยายตัวถึง 10.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP พุ่งสูงถึง 101.9% จากที่เคยอยู่ที่ระดับ 92.1% ณ สิ้นปี 2562 นั่นหมายความว่าในช่วง COVID-19 เกาหลีใต้มีหนี้ครัวเรือนมากกว่ารายได้ที่เศรษฐกิจหามาได้ในหนึ่งปีเสียอีก
หนี้ครัวเรือนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลเกาหลีให้ความสำคัญไม่ต่างกับประเทศไทย โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ดำเนินการผ่านคณะกรรมการกำกับการบริการทางการเงิน หรือ FSC (Financial Service Commission) ได้ออกแผนการบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนหลังวิกฤติ COVID-19 ในปี 2564 เพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของเกาหลีใต้ที่ยังคงเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง โดย FSC ได้ออกมาตรการทางการเงินมาเป็นจำนวนมาก
SCB EIC สรุปมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนสำคัญๆ ดังนี้
- การปรับปรุงกำกับดูแลหนี้ครัวเรือนในภาพรวม ควบคุมการขยายตัวหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับเป้าหมายใกล้เคียงกับระดับก่อน COVID-19 และยกระดับการกำกับดูแลความเสี่ยงของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะความเสี่ยงจากคุณภาพของสินเชื่อครัวเรือนให้เข้มงวดขึ้น
- ปรับปรุงเกณฑ์สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR (Debt Service Ratio) ให้แตกต่างกันตามความพร้อมของแต่ละบุคคล และพัฒนาวิธีการคำนวณเกณฑ์ที่เหมาะสมผ่านฐานข้อมูลรายได้ที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ภาษี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น
- เพิ่มความเข้มงวดของการกำกับดูแลในภาคส่วนที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะการกู้ยืมโดยใช้ที่อยู่อาศัยเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน โดยมีการกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน หรือ LTV (Loan-to-value) ให้เข้มงวดขึ้น
4.ขยายช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อให้กลุ่มคนรายได้น้อย และกลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี โดยปรับเกณฑ์การให้สินเชื่อให้สะท้อนการเติบโตของรายได้ในอนาคต ทำให้เกณฑ์มีความยืดหยุ่นมากขึ้น คนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว รวมถึงมีการขยายระยะเวลาผ่อนสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้นานขึ้นเป็น 40 ปี เพื่อลดภาระหนี้ต่องวดที่ต้องจ่าย
น่าสังเกตว่าชุดมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่รัฐบาลเกาหลีใต้ทยอยออกมา แม้จะเป็นความพยายามแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนผ่านการมุ่งสร้างเสถียรภาพระบบการเงินเป็นหลัก เช่น การเพิ่มความเข้มงวดของเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อระบบสูง การกำกับดูแลสถาบันการเงินให้เข้มงวดขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ได้ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่มเปราะบางเป็นอย่างมาก เช่น การยืดหยุ่นเกณฑ์การให้สินเชื่อกลุ่มคนรายได้น้อย ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังมีกองทุน “National Happiness Fund” ที่ตั้งขึ้นในปี 2556 เพื่อรับซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงิน โดยกองทุนจะดำเนินการเจรจาและให้ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยตรง ซึ่งจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการยกหนี้ให้กลุ่มเปราะบางที่ประเมินแล้วว่าไม่มีความสามารถชำระคืนหนี้ได้ในอนาคต
แนวทางของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่พยายามหาสมดุลระหว่างการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินในภาพรวม และการดูแลให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น นับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว และทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของเกาหลีใต้ปรับลดลงมาได้เร็ว จากที่เคยสูงเกิน 100% เหลือไม่ถึง 95% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี ซึ่งถือว่าลดลงได้เร็วกว่าไทยมาก
แม้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยและเกาหลีใต้อาจมีจุดเริ่มต้นไม่เหมือนกันเสียทีเดียว กล่าวคือหนี้ครัวเรือนของเกาหลีใต้มีที่มาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ขณะที่หนี้ครัวเรือนไทยมีองค์ประกอบหลักเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่ออื่นๆ เพื่อการบริโภคในระยะสั้น แต่ภาครัฐไทยสามารถเรียนรู้แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในต่างประเทศเพื่อปรับใช้เพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจไทย เพื่อปลดล็อกให้เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคครัวเรือนไทยยังไปต่อได้อย่างยั่งยืน