เกียรตินาคินภัทรลดเป้าเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 67 เหลือ 2.6% ชี้ปัญหาเชิงโครงสร้างกดศักภาพเศรษฐกิจไทยต่ำลง

เกียรตินาคินภัทร ลดเป้าเติบโต เศรษฐกิจไทย ปี 67 เหลือ 2.6% ชี้ปัญหาเชิงโครงสร้างกดศักภาพเศรษฐกิจไทยต่ำลง

ศูนย์วิจัย KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้ปรับลดคาดการณ์เติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ว่าจะเติบโตได้ที่ระดับ 2.6% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 3.7% (การประมาณการที่ไม่รวมผลของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก่อนหน้านี้คือ 2.9%) และคาดว่าในปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะโต 2.8% ตามแนวโน้มศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มลดต่ำลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง

ซึ่งการปรับประมาณการเกิดจากการเปลี่ยนแปลง 3 เรื่องสำคัญ คือ
1. การนำผลของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ออกจากกรณีฐานในการประมาณการเศรษฐกิจ จากความไม่ชัดเจนและความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบาย
2. การปรับตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมลงเพื่อสะท้อนปัญหาสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงกว่าปกติและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
3. รายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด -19 มากและมีแนวโน้มยังไม่กลับมาปกติ อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถโตได้ดีขึ้นในช่วงครั้งหลังของปี 67เมื่อการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่จะกลับมาชดเชยการชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรมและระดับสินค้าคงคลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

นอกจากนี้ KKP Research ยังประเมินว่าภายใต้เงื่อนไขของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ค่าเงินบาทในระยะยาวจะเข้าใกล้จุดเปลี่ยนที่อาจกลับด้านเป็นอ่อนค่าจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะเกินดุลได้ลดลงตามดุลการค้า โดยคาดการว่าในปี 2567 จะเกินดุลเพียงแค่ 0.8% รวมถึงอัตราดอกเบี้ยของไทยจะอยู่ในระดับต่ำลงตามทิศทางเงินเฟ้อและศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศกว้างกว่าในอดีต

ในส่วนของเงินเฟ้อปี 2567 และ 2568 KKP Research ยังประเมินว่าเงินเฟ้อทั้งปีนี้และปีหน้าจะอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8% และ 0.9% ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย และคาดการณ์ว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปี 2567 และ 1 ครั้งในปี 2568 โดยมีเหตุผลสำคัญ คือ

1. ระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยสูงกว่าที่คาดไว้ จากแนวโน้มการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้
2. ระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจอาจมีการปรับตัวลดลงตามศักยภาพการเติบโตในระยะยาว
3. แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญอยู่เป็นสถานการณ์ที่มีความท้าทาย และการชะลอตัวเศรษฐกิจไทยไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพียงอย่างเดียว เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจบางส่วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยสั่งสมมายาวนาน และเริ่มส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น ตอกย้ำว่าภาครัฐจำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากโครงสร้างควบคู่กันไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles