นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร โพสต์ข้อความเกี่ยวสถานการณ์การปรับโครงสร้างหนี้ มีข้อความสำคัญดังนี้
25.06.2567: ข้อมูลว่าด้วยเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน ป้องกันอะไร ป้องกันจากการตกชั้นจากบัญชีสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือ SM หรือบัญชีหนี้ที่กำลังจะเสียกลายไปเป็นหนี้เสียหรือ NPLsนั่นเอง
ในอดีตตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของ covid-19 หรือในระหว่างเกิดวิกฤติ covid-19 ในกรณีที่บัญชีสินเชื่อใดก็ตามเริ่มออกอาการค้างชำระ อาจจะเป็น 1, 2, หรือ 3 งวด หากแต่ยังไม่เกิน 90 วัน มีการเลี้ยงงวดการชำระหนี้แบบไปๆ มาๆ กลับมาเป็นหนี้ปกติก็ไม่ได้ แต่ก็ไม่กลายไปเป็นหนี้เสียให้รู้แล้วรู้รอด การที่ลูกหนี้ร้องขอผ่อนผันและเจ้าหนี้ก็ยอม ตกลงกันทำสิ่งที่เรียกว่า การปรับโครงสร้างหนี้หรือ DR. หรือ Debt restructure จะเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงของการตกชั้น
ในเดือนเมษายน 2567 ตามกติกาใหม่ โปร่งใสมากขึ้น จากข้อมูลสถิติที่ไม่มีตัวตนพบว่า มีการทำ DR. เกือบ 9 หมื่นล้านบาท 1.29 แสนบัญชีสินเชื่อ Ploan: Personal Loan ทำ DR. 3.8 หมื่นล้านบาท จำนวน 5.7 หมื่นบัญชี สินเชื่อบ้าน ทำ DR. 2.9 หมื่นล้านบาท จำนวนเกือบ 2 หมื่นบัญชี สถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือสถาบันการเงินของรัฐทำ DR. 6.5 หมื่นล้านบาทจากทั้งหมดเกือบ 9 หมื่นล้านบาท มีจำนวนบัญชีสูงถึง 6.9 หมื่นบัญชี
5. ข้อมูลในตารางถือเป็นหมุดหมายสำคัญในเรื่องความได้ผลสำเร็จของการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ก่อนไหลเป็นหนี้เสีย ยอดสะสมในเดือนต่อๆ ไปตั้งแต่ความจริงปรากฎจะบอกได้ว่า มาตรการ 2ต้อง 1ไม่ ที่กำหนดมาว่า เจ้าหนี้เมื่อปล่อยกู้ไปแล้วต่อมาลูกหนี้ไม่ไหว เริ่มค้าง ต้องยื่นข้อเสนอทำ DR. อย่างน้อยหนึ่งครั้ง และถ้าไหลไปเป็นหนี้เสียจริง ต้องให้โอกาสลูกหนี้ทำ TDR. อีกอย่างน้อยหนึ่งครั้ง รวมทั้งต้องไม่ขายหนี้บัญชีดังกล่าวออกไปให้กับ AMC.อย่างน้อย 60 วัน มาตรการนี้ไม่ใช่ขอความร่วมมือแบบในอดีต แต่เป็นมาตรการบังคับตามกฎหมาย
6. การทำ DR.แบบยื่นข้อเสนอแบบเจ้าหนี้ต้องเสนอลูกหนี้ มันมาพร้อมกับความเข้มของมาตรฐานการบัญชีที่ระบุว่า ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้อย่างมีนัยสำคัญที่เรียกว่า SICR.เกิดขึ้นเช่น บัญชีสินเชื่อนั้นๆ ค้างเกิน 31 วัน จะต้องถือว่าบัญชีนั้นเป็น SM. พอเป็นแล้วจะกลับมาเป็นปกติได้ก็ต้องทำ DR. พอได้ทำสัญญาหรือข้อตกลงแล้ว ตัวลูกหนี้ก็ต้องหาเงินมาชำระหนี้ตามเงื่อนไข DR. ติดต่อกันไปอย่างน้อย 3 งวด สถานะจึงจะกลับมาเป็นบัญชีปกติได้
กติกาที่เปิดเผยข้อมูลครบถ้วน ทันสมัยมากขึ้น การเข้มมาตรฐานทางบัญชีมากขึ้น การเข้มข้นการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ การระบุการประเมิน พิสูจน์ทราบความมีศักยภาพในการหารายได้มาชำระหนี้ตามตารางที่กำหนดขึ้น ในเวลานี้ ในปีพ.ศ. นี้ ท่านผู้อ่านคิดว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อ อัตราการอนุมัติสินเชื่อ ความเข้มข้น ยืดหยุ่น ความเจือจางในนโยบายสินเชื่อจะไปในทิศทางไหน
สุดท้าย ความตั้งใจของเราที่ต้องการให้หนี้ครัวเรือนไทยมาอยู่ในระดับ 80% ของ GDP จะเป็นไปได้ในเร็ววันมั้ย ถ้าตัวเศษคือ หนี้ครัวเรือนมันวิ่งด้วยอัตราการโต 3-4% ขณะที่ตัวส่วนคือ GDP. มันวิ่งด้วยความเร็วในการโต 2-3%
เรากำลังกดตัวไหนให้วิ่งช้า เรากำลังปั๊มตัวไหนให้วิ่งเร็ว หากแต่ว่าถ้าเราๆ ท่านๆ ถูกวัดด้วยมาตรฐานการประเมินศักยภาพ ความสามารถในการหารายได้ ความสามารถในการชำระหนี้ ตัวเราๆ ท่านๆ ถ้าไปยื่นขอกู้เวลานี้ กติกาตอนนี้ ท่านคิดว่าท่านจะได้คำตอบแบบไหน
ความรู้สึกของหลายท่านที่ได้พบปะพูดคุยด้วยมันบอกว่า เราอยู่ในคลื่นลมและพายุทางการเงินระดับเดียวกันครับ แต่เราอาจอยู่เรือคนละลำ เรือแจว เรือจ้าง เรือหางยาว เรือโป๊ะ เรือหาปลา เรือรบ เรือบรรทุกสินค้า เรือบรรทุกเครื่องบิน เรือสำราญ เรือยอร์ช มันจึงมีอัตรารอดที่แตกต่างกัน