เงินบาท สัปดาห์นี้ลุ้นเคลื่อนไหวในกรอบ 34.40-35.00 บาทต่อดอลลาร์ จับสัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางเงินหยวนและราคาทองคำในตลาดโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาท อ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคและเงินหยวนท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากประเด็นนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์

โดยเงินบาทขยับแข็งค่าเล็กน้อยในช่วงต่อมา หลังจากที่เงินดอลลาร์ฯ ถูกกดดันช่วงสั้นๆ หลังมีรายงานข่าวระบุถึง แนวทางการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจจะเป็นไปอย่างจำกัดเฉพาะบางกลุ่มสินค้า อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยอ่อนค่ากลับมาอีกครั้งในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวในภายหลัง นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยลบจากแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่มีแรงหนุนจากบันทึกประชุมเฟดและตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด (อาทิ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน และดัชนี ISM ภาคบริการ) และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งสะท้อนสัญญาณว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจชะลอแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้

เมื่อวันศุกร์ที่ 10 ม.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (3 ม.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 6-10 ม.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 1,383 ล้านบาท และ 3,354 ล้านบาท ตามลำดับ

ส่วนในสัปดาห์นี้ ( 13-17 ม.ค. 2568) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.40-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางเงินหยวนและราคาทองคำในตลาดโลก และสัญญาณเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนม.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. ของอังกฤษและยูโรโซน และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 และข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนธ.ค. รวมถึงสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ด้วยเช่นกัน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles