เงินบาท เปิดตลาด อ่อนค่าเยอะ ท่ามกลางความกังวลผลนโยบาย Trump 2.0 ยังระวังผันผวน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาท วันนี้เปิดที่ระดับ 33.89 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.64 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.50- 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75- 34.00 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมเป็นการอ่อนค่าลงหนัก (แกว่งตัวในกรอบ 33.55-33.92 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องชัดเจน

หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้นเพียง 1.43 แสนตำแหน่ง น้อยกว่าที่ตลาดคาดพอสมควร ขณะที่อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ลดลงสู่ระดับ 4.0% ดีกว่าคาดเล็กน้อย ส่วนอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) เพิ่มขึ้น +4.1%y/y สูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ บ้าง

ทว่าในช่วงหลังจากนั้น อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้น (1-year Inflation Expectations) ในรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ได้ออกมาสูงถึง 4.3% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งภาพดังกล่าว รวมถึงคำขู่ขึ้นภาษีนำเข้าในลักษณะ Reciprocal Tariffs ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ส่งผลให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และปรับลดโอกาสที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ ส่งผลให้ ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันราคาทองคำและค่าเงินบาท รวมถึงบรรดาสกุลเงินอื่นๆ

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เสี่ยงกลับมาอ่อนค่าลง โดยเฉพาะหากอ่อนค่าทะลุโซน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) ซึ่งอาจขึ้นกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย อาจพอได้ลุ้นเห็นแรงซื้อหุ้นไทยทยอยกลับมาบ้าง

สำหรับในสัปดาห์นี้ ควรจับตาแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่เก็บภาษีนำเข้า “Reciprocal Tariffs” พร้อมจับตา รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles