ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาท แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 เดือนครึ่งที่ระดับ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ หลังจากข้อมูลตลาดแรงงานของสหรัฐฯ เดือนก.ค. ออกมาแย่กว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด ซึ่งหนุนโอกาสการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในการประชุมเดือนก.ย. นี้ อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกอ่อนค่าในช่วงกลางสัปดาห์ตามปัจจัยทางการเมืองในประเทศ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นตามแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ หลังจากที่ตัวเลขดัชนี ISM ภาคบริการของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดออกมาส่งสัญญาณว่า แม้เฟดอาจมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุมใกล้ๆ นี้ แต่ความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับต่ำ ณ ขณะนี้
ทั้งนี้เงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกครั้งในช่วงท้ายสัปดาห์ตามสัญญาณฟันด์โฟลว์ซื้อพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการทะยานขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกขณะที่แรงกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยงชะลอลงบางส่วนเนื่องจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯที่ยังออกมาดีช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยของสหรัฐฯ
ในวันศุกร์ที่ 9 ส.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 35.29 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 ส.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 5-9 ส.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 423 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทยต่อเนื่องอีกถึง 34,445 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 34,945 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 500 ล้านบาท)
สำหรับในสัปดาห์นี้ (12-16 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.90-35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ปัจจัยทางการเมืองของไทย ทิศทางเงินเยนและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนก.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตจัดทำโดยเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนส.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค. ของอังกฤษ ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของยูโรโซน ญี่ปุ่น และอังกฤษ และตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนก.ค. อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และอัตราการว่างงาน