นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาทวันนี้ เปิดที่ระดับ34.59 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.99 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.35-35.15 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.70 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลุดทั้งโซนแนวรับ 34.85 บาทต่อดอลลาร์ และโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ (แกว่งตัวในกรอบ 34.55-35.02 บาทต่อดอลลาร์) โดยแม้ว่าเงินบาทจะมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง หลังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนสิงหาคม ออกมาดีกว่าคาด หนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง ทว่าภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใส จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ลดความน่าสนใจในการถือครองเงินดอลลาร์และกดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ทำให้เงินบาทได้แรงหนุนจากทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จนทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (ทะลุโซน 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์)
นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทดังกล่าว อาจได้แรงหนุนจากการปรับสถานะ Short THB ของผู้เล่นในตลาด ที่อาจโดน Stop Loss ไปได้ หลังเงินบาทได้แข็งค่าหลุดโซนแนวรับระยะสั้นลงมา
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท ยังมีโมเมนตัมการแข็งค่ายังมีอยู่ แต่อาจชะลอลงบ้าง ทำให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าได้ หากการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่มีแนวโน้มล่าช้า กดดันฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง หรือราคาทองคำเริ่มกลับมาย่อตัวลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมจังหวะที่ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยผันผวนสูงขึ้น
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า ทิศทางเงินดอลลาร์จะขึ้นกับ 1) มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด 2) บรรยากาศในตลาดการเงิน ซึ่งต้องจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และ 3) ทิศทางบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อาจแข็งค่าขึ้นได้ หากผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า BOJ จะสามารถขึ้นดอกเบี้ยต่อได้
ส่วนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้น ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ จังหวะอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยที่ทยอยลดลง
สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ที่อาจกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ECB และ BOJ พร้อมรอลุ้นรายงาน GDP ไตรมาสที่ 2 และผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย