นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาทวันนี้ ที่ระดับ 33.98 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าสูงสุด” รอบกว่า 1 ปี ( นับตั้งแต่ 20 ก.ค.2566) และแข็งค่าขึ้น จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.75-34.40 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.05 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลุดทั้งโซนแนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ (แกว่งตัวในกรอบ 33.90-34.27 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD)
จากถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ล่าสุด ที่ไม่เพียงทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนนี้ แต่ยังคงทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดมีโอกาสที่จะเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ในการประชุมที่เหลือของปีนี้ได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อประคองไม่ให้ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก และโดยรวมผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว -100bps ในปีนี้ และอีกราว -125bps ในปีหน้า
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลง หลังระดับเงินบาท ณ ปัจจุบัน ได้รับรู้ปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าไปมากแล้ว ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทเช่นกัน โดยเงินบาทจะมีโซนแนวรับถัดไปแถว 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์ หลังแข็งค่าทะลุระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ส่วนโซนแนวต้านแรกจะอยู่ในช่วง 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ และจะมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์อาจชะลอลง หลังตลาดได้รับรู้แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดไปมากแล้ว ทว่า เงินดอลลาร์ก็อาจไม่ได้แรงหนุนเพิ่มเติม หากตลาดไม่ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ ทั้งนี้ ควรจับตาสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส และบรรยากาศในตลาดการเงินหลังรับรู้ผลประกอบการของ Nvidia ซึ่งอาจกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ได้
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นทะลุระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดล่าสุด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยราว -100bps ในปีนี้ และราว -125bps ในปีหน้า
สำหรับสัปดาห์นี้ ควรจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ECB และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)