นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง เล็กน้อย”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 34.14 บาทต่อดอลลาร์
ดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 34.10-34.24 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ “Liberation Day” นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนมีนาคม ชะลอตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็ชะลอลงสู่ระดับ 2.4% ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมั่นใจว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้อีกราว 2-3 ครั้ง ในปีนี้
อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ก็ถูกชะลอลง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตเดือนมีนาคม ที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.0 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนภาวะหดตัว) และยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) เดือนกุมภาพันธ์ ก็ลดลงสู่ระดับราว 7.57 ล้านตำแหน่ง แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่และยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวอยู่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.40 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้นโยบายการค้าของสหรัฐฯ) โดยคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจทยอยอ่อนค่าลงได้ หลังเงินบาท (USDTHB) ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน
ด้านกลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 34.05-34.35 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทอ่อนค่าต่อจากความกังวลเรื่อง Tariffs ที่ส่งผลให้มีความต้องการถือเงินดอลลาร์มากขึ้น แม้ตัวเลขของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ภาคการผลิตของสหรัฐฯ จะออกมาที่ 49.0 ต่ำกว่าตลาดคาด ขณะที่ดัชนีราคา (Price paid) ของสถาบัน ISM อยู่ที่ 69.4 สูงกว่าคาดมาก
เงินเฟ้อยุโรปเดือนมีนาคม ชะลอลงมาอยู่ที่ 2.3% เท่ากับที่ตลาดคาด โดยเป็นผลจากราคาภาคบริการที่ชะลอลงแรง
นายทอม บาร์กิน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ กล่าวว่าภาษีนำเข้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจส่งผลให้ทั้งเงินเฟ้อและอัตราว่างงานสูงขึ้น