นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาท เปิดเช้านี้ที่ระดับ 32.55 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.59 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.65 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ) โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 32.50-32.65 บาทต่อดอลลาร์) โดยแม้ว่า เงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด
รวมถึงบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น หลังอิหร่านเปิดฉากโจมตีอิสราเอล ซึ่งสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น ก็มีส่วนหนุนให้ ราคาทองคำทยอยปรับตัวสูงขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังพอมีกำลังอยู่ หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงบรรยากาศของตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ดี เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด ตราบใดที่ราคาทองคำยังสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้ จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะคลายกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจใช้เวลาหลายวัน จนถึงระดับ 1-2 สัปดาห์ได้ โดยต้องจับตาท่าทีของทางการอิสราเอลในการตอบโต้ การโจมตีรอบล่าสุดจากทางอิหร่าน เพราะหากอิสราเอลตอบโต้กลับในลักษณะที่ไม่ต่างจากช่วงก่อนหน้า ก็อาจสะท้อนว่า ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะไม่ได้ทวีความรุนแรงและลุกลาม บานปลายมากขึ้น
ทั้งนี้ ในระยะสั้น ความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน อาจหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นได้ในระยะสั้น ซึ่งต้องระวังความเสี่ยงของการเกิด Short Squeeze หลังในช่วงที่ผ่านมาผู้เล่นในตลาดมีการสะสมสถานะ Net Short น้ำมันดิบไว้พอสมควร ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบในช่วงระยะสั้นก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้
จากโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทในระยะสั้น รวมถึงมุมมองของเราที่คงเชื่อว่า ผู้เล่นในตลาดจะทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจกลับมาย่อตัวลงบ้าง หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางทยอยคลี่คลายลงได้ ทำให้เรามองว่า เงินบาทอาจผ่านจุดแข็งค่าสุดไปแล้วในระยะสั้น (Call Bottom USDTHB แถว 32.00 บาทต่อดอลลาร์) แต่เราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทจะสามารถทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้จริง หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 32.80 บาท ต่อดอลลาร์ และโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน ซึ่งอาจจะต้องรอลุ้น รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้