นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ค่า เงินบาท ที่แข็งค่ามากขึ้น 8-10% อย่างรวดเร็วและรุนแรงใน ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท และเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น ค่าใช้จ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็จะสูงขึ้นตาม ทำให้การท่องเที่ยวไทยกลายเป็นจุดหมายที่มีราคาสูง ส่งผลนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย จะจับจ่ายใช้สอยน้อยลงเพราะรู้สึกว่าสินค้าและบริการแพงขึ้นกว่าปกติ และอาจจะเลือกไปยังประเทศที่มีค่าเงินอ่อนกว่าและคุ้มค่ามากกว่านั้น
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทแข็งค่า 1% กระทบรายได้ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือ คิดเป็นกว่า 0.5% ของ GDP ดังนั้น หอการค้าฯ ขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนอย่างรุนแรงจนเกินไป เพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา โดยมองค่าเงินบาทในระดับที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์ จากปัจจดบะนที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 33 บาท
ด้านนายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือส.อ.ท.กล่าวว่าผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่านั้น ภาคส่งออกได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 3 บาท จากเดิม 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มีผลถึงรายได้ส่งออกของไทยเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านลดหายถึง 10% ถ้าขืนปล่อยแบบนี้ต่อไป จะส่งกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างรุนแรง ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมไทยเผชิญปัญหาหลายด้าน เช่น สินค้าราคาถูกจากทุนข้ามชาติเข้ามาทำลายตลาดไทย ต้นทุนดอกเบี้ยที่ยังสูง นโยบายค่าแรง 400 บาทต่อวันที่กำลังผลักดัน
นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออก กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าแตะ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และยังแข็งค่าขึ้นกว่า 10% มีผลกระทบกับรายได้รูปเงินบาท โดยเฉพาะจากการขายล่วงหน้า ประเมินแล้ว หดหายไปประมาณเดือนละ 1,000 ล้านบาท คาดว่าจากนี้ไปจนถึงเดือนธันวาคม ส่งออกไก่จากไทยจะหายไป 5,000-6,000 ล้านบาท ค่าเงินบาทที่แข็งมากอย่างนี้ ส่งออกได้ยากมาก ผลกระทบต่อไปจะไปถึงการจ้างงาน และการซื้อวัตถุดิบในประเทศ
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งที่ผ่านมา จะยังไม่กระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มทัวร์ที่กำลังเข้ามาในประเทศไทยมากนัก เพราะเป็นการขายแพคเกจล่วงหน้า แต่ในระยะยาวแล้ว แน่นอนว่าแลกเงินบาทได้น้อยลง จะเกิดการประหยัดใช้จ่ายในการซื้อสินค้า ซื้อของฝากและของที่ระลึก หรือจ่ายค่าอาหารต่อมื้อลดลง
ภาพรวมเราต้องดูสมดุล ไม่ว่าบาทอ่อน บาทแข็ง หากมากเกินไป และควบคุมไม่ดี ย่อมมีผลกระทบทั้งนั้น บาทแข็งก็จะมีผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมกับเรื่องต้นทุนสำคัญ ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเตรียมรับมือด้วย
ตลาดซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศในตลาดต่างประเทศบนระบบอิเล็กทรอนิคส์ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา รายงานว่า วันนี้ 21 กันยายน 2024 เงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 32.87 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 26 สตางค์ต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินบาทปิดตลาดภายในประเทศไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายนผ่านไป ส่งผลให้ค่าเงินบาทดังกล่าวทำสถิติแข็งค่าสุดครั้งใหม่ในรอบ 20 เดือนหรือนับตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2023 เป็นต้นมา
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยใน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายนผ่านไปว่า ไม่ใช่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดลดดอกเบี้ยแล้ว เราต้องลดตาม มีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาประกอบ การตัดสินนโยบายการเงินขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า (Outlook dependent)
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าแบงก์ชาติกล่าวยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทมีความผันผวนสูงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค แต่ไม่ได้แข็งค่าที่สุด ตั้งแต่ต้นปีนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.1% สาเหตุความผันผวนมาจากราคาทอง เนื่องจากเงินบาทมีความสัมพันธ์กับทองมากกว่าเงินสกุลอื่น ทั้งนี้ ในการประเมินผลกระทบต้องพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน คือ ดอลลาร์อ่อนค่าลงจากเฟดลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด แต่สิ่งที่ ธปท. ให้ความกังวลคือ การที่เงินบาทผันผวนจากปัจจัยที่ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐาน เช่น Hot money การที่นักลงทุนนำสกุลเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทเพื่อหวังผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทไม่สะท้อนพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ธปท. ยังไม่เห็นความเสี่ยงจากการเก็งกำไร
ก่อนหน้านี้ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน เปิดเผยรายงานความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ทั่วโลก พบว่า ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมถึง 12 กันยายน 2024 ค่าเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นสกุลเงินที่ทะยานแข็งค่าขึ้นถึง 6.1% มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของ 8 สกุลเงินในประเทศเกิดใหม่ที่ปรับแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในทุกสกุลเงินของประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ในขณะที่ มี 3 สกุลเงินในประเทศใหม่ที่ปรับอ่อนค่าลง ได้แก่ เงินเปโซเม็กซิโก ร่วงอ่อนค่ามากที่สุดถึง -3.2% ถัดมาเป็นสกุลไลร่า ประเทศตุรกี อ่อนค่าราว -2.2% และสุดท้ายค่าเงินรูปีประเทศอินเดียอ่อนค่าราว -0.1%
สำหรับสกุลเงินในประเทศเกิดใหม่เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 สิงหาคมถึงวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมามีดังนี้ 1.บาท ไทย 6.2% 2.รูเปี๊ยะ อินโดนีเซีย 5.2% 3.ริงกิต มาเลเซีย 5.1% 4.เปโซ ฟิลิปปินส์ 3.8% 5.แรนด์ แอฟริกาใต้ 2.9% 6.ด่อง เวียดนาม 2.7% 7.วอน เกาหลีใต้ 2.6% และ 8.เรียล บราซิล 2.1%
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 กันยายนผ่านมา Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวเปิดที่ระดับ 33.21 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลแข็งค่าในรอบ 19 เดือนครั้งใหม่ และแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 33.33 บาทต่อดอลลาร์