ตลาดซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศในเอเชียที่ญี่ปุ่น รายงานว่า สิ้นสุดไตรมาสที่สองที่ผ่านไปค่าเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งทะยานแข็งค่าถึง 10% ส่งผลทำสถิติค่าเงินบาทรายไตรมาสที่แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 26 ปีหรือนับตั้งแต่สิ้นสุดไตรมาสที่หนึ่งปี 1998 เป็นต้นมา หรือนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งของประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ท่ามกลางค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ทะยานแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 0.5% เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมานั้น แต่ผลพวงจากค่าเงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้นมากกว่าสกุลเงินของประเทศคู่ค้าในภูมิภาคนี้ส่งผลให้ผู้ซื้อสินค้าจากต่างประเทศพร้อมที่จะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้าที่มีค่าเงินไม่แข็งค่าเร็วและแรงเกินไป
ด้านสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยมีจำนวนสะสมมากขึ้นก็ตาม แต่ในที่สุดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะควบคุมค่าใช้จ่าย สาเหตุจากค่าเงินบาทที่ทะยานแข็งค่าขึ้นสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายช้อปปิ้งและใช้จ่ายตามโรงแรมต่างๆ
สำนักวิจัย บลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ เปิดเผยว่า ค่าดัชนีความผันผวนเงินบาทเฉลี่ย 3 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ระดับ 9.14% ส่งผลทำสถิติเกือบสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ หรือในรอบเกือบ 9 เดือนผ่านมา ที่สำคัญค่าเฉลี่ยดังกล่าวสูงกว่า ค่าเฉลี่ยตลอดของปีนี้ที่ระดับ 7.96%
ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ พบว่านักลงทุนต่างประเทศได้เคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นจำนวนมากถึง 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 88,400 ล้านบาท เข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทย
ก่อนหน้านี้ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน เปิดเผยรายงานความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ทั่วโลก พบว่า ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมถึง 12 กันยายน 2024 ค่าเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นสกุลเงินที่ทะยานแข็งค่าขึ้นถึง 6.1% มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของ 8 สกุลเงินในประเทศเกิดใหม่ที่ปรับแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในทุกสกุลเงินของประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ในขณะที่ มี 3 สกุลเงินในประเทศใหม่ที่ปรับอ่อนค่าลง ได้แก่ เงินเปโซเม็กซิโก ร่วงอ่อนค่ามากที่สุดถึง -3.2% ถัดมาเป็นสกุลไลร่า ประเทศตุรกี อ่อนค่าราว -2.2% และสุดท้ายค่าเงินรูปีประเทศอินเดียอ่อนค่าราว -0.1%
สำหรับสกุลเงินในประเทศเกิดใหม่เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 สิงหาคมถึงวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมามีดังนี้ 1.บาท ไทย 6.2% 2.รูเปี๊ยะ อินโดนีเซีย 5.2% 3.ริงกิต มาเลเซีย 5.1% 4.เปโซ ฟิลิปปินส์ 3.8% 5.แรนด์ แอฟริกาใต้ 2.9% 6.ด่อง เวียดนาม 2.7% 7.วอน เกาหลีใต้ 2.6% และ 8.เรียล บราซิล 2.1%