สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือน ม.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 106.98 ลดลง 1.11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากตลาดคาด -0.79 ถึง -0.9% โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 35 เดือน เนื่องมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เช่น น้ำมัน และค่าไฟฟ้า จากผลของมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับสินค้าอาหารสดมีราคาลดลง
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ม.ค. 67 เพิ่มขึ้น 0.52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ สนค. คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกของปีนี้จะยังลดลงราว -0.7% เนื่องจากรัฐบาลยังมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนในเรื่องการลดค่าครองชีพ และยืนยันว่ายังไม่เข้าภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ดี หากภาครัฐทยอยยกเลิกมาตรการดังกล่าวลง ก็มีโอกาสจะเห็นเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกได้
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในเดือน ม.ค. 67 ว่ามีสินค้าและบริการที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. 66 รวม 160 รายการ ได้แก่ เนื้อสุกร, ผักบุ้ง, มะม่วง, แตงกวา, โฟมล้างหน้า, ค่าไฟฟ้า, น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการที่ราคาลดลง รวม 97 รายการ ได้แก่ ข้าวสารเหนียว, ปลาทู, ไข่ไก่, ผักชี, หัวหอมแดง, ส้มเขียวหวาน, ผงซักฟอก เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง รวม 173 รายการ ได้แก่ ค่าน้ำประปา, ค่าโดยสารแท็กซี่, ค่าบริการที่จอดรถ, ค่าหนังสือพิมพ์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ถือว่ายังอยู่ในกลุ่มประเทศที่เงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำเป็นอันดับ 3 จาก 139 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่มีการประกาศตัวเลข (ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย)
โดยทั้งปี 2567 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะอยู่ในช่วง -0.3 ถึง 1.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 0.7% จากสมมติฐานสำคัญ คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 80-90 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ยที่ 34-36 บาท/ดอลลาร์
“คาดว่าเงินเฟ้อเดือ นก.พ. และ มี.ค. ยังติดลบต่อเนื่อง ไตรมาสแรก เงินเฟ้อจะยังติดลบแน่ๆ เพราะถ้าสินค้าเกษตรยังอยู่ราคาระดับนี้ และภาครัฐยังมีมาตรการลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และน้ำมัน ซึ่งมีน้ำหนักถึง 10% ในการคำนวณเงินเฟ้อ ก็คาดว่าเงินเฟ้อไตรมาสแรกจะอยู่ที่ราว -0.7% แต่ยืนยันว่ายังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เพราะราคาสินค้ามีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง อีกทั้งการลดลงของเงินเฟ้อ ก็ไม่ใช่การลดลงจากตัวของเงินเฟ้อเอง แต่มาจากมาตรการลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งเป็นตัวหลักของต้นทุนสินค้า ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักสินค้ากลุ่มพลังงานและอาหารสดออก ก็ยังไม่ได้ติดลบ…หากไตรมาส 2 มาตรการต่างๆ ทยอยยกเลิก ก็มีโอกาสจะเห็นเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกได้” ผู้อำนวยการ สนค. กล่าว