เว็บไซต์นิกเกอิเอเชียรายงานว่า นักลงทุนรายย่อยในญี่ปุ่นได้ลงทุนซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 นี้ ซึ่งนับเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ฉุดเงินเยนให้อ่อนค่าลง และคาดว่าการขนเงินลงทุนนอกของรายย่อยในครั้งนี้อาจพุ่งแซงหน้าการขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นในครึ่งปีแรกไปแล้ว
นับตั้งแต่เดือน ม.ค. ปีนี้ ที่รัฐบาลปรับเกณฑ์ใหม่ในโครงการบัญชีออมทรัพย์ส่วนบุคคลนิปปอน (NISA) ซึ่งยกเว้นภาษีเงินปันผลและกำไรจากการลงทุนให้นักลงทุนส่วนบุคคล เพื่อกระตุ้นให้รายย่อยนำเงินออมออกมาลงทุนในตลาดหุ้นให้มากขึ้นนั้น พบว่าบริษัทจัดการการลงทุนต่างๆ เข้าซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศมากถึงราว 1 ล้านล้านเยนต่อเดือน (ราว 2.26 แสนล้านบาท) จากอานิสงส์ของโครงการนี้
จากข้อมูลของกระทรวงการคลังญี่ปุ่นพบว่าในรอบ 6 เดือนแรกของปีนี้ บรรดาบริษัทจัดการการลงทุนและบริษัทจัดการสินทรัพย์ได้ซื้อสุทธิหุ้นและกองทุนในต่างประเทศถึง 6.16 ล้านล้านเยน (ราว 1.4 ล้านล้านบาท)
นอกจากตัวเลขดังกล่าวจะเป็นการลงทุนสูงสุดทุบสถิติใหม่ของรายย่อยในญี่ปุ่นแล้ว ก็ยังเป็นจำนวนมากกว่าการขาดดุลการค้าของประเทศในช่วงเวลาเดียวกันด้วย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านล้านเยน อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับนักลงทุนสถาบันในญี่ปุ่นพบว่า นักลงทุนรายใหญ่ไม่ได้มุ่งลงทุนในต่างประเทศมากนัก โดยกลุ่มสถาบันการเงินซื้อสุทธิช่วงครึ่งปีแรกเพียง 2.2 แสนล้านเยน ในขณะที่บรรดากองทุนบำเหน็จบำนาญขายสุทธิออกไป 9.43 ล้านล้านเยน
ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้นักลงทุนรายย่อยนำเงินออมไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยดัชนีราคาผู้บริโภค CPI (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) ในญี่ปุ่นขยายตัวมากกว่า 2% ต่อเดือน นับตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงของปี 2565 เป็นต้นมา และตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน พ.ค. อยู่ที่ 2.1% หรือมากกว่ากรอบเป้าหมาย 2% ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กำหนดเอาไว้