เชฟรอนปลดพนักงานครั้งใหญ่ 20% เตรียมตกงานกว่า 8,000 คนทั่วโลก ล้มเหลวในการซื้อกิจการ กำไรอ่อนแอในธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ขาดทุนครั้งแรกในรอบ 5 ปี

เชฟรอน ปลดพนักงาน ครั้งใหญ่ 20% เตรียมตกงานกว่า 8,000 คนทั่วโลก ล้มเหลวในการซื้อกิจการ กำไรอ่อนแอในธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ขาดทุนครั้งแรกในรอบ 5 ปี

เชฟรอน (Chevron) ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ในธุรกิจพลังงานของสหรัฐอเมริกา ประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่มากกว่า 6,000 ถึง 8,000 คนทั่วโลก หรือ 15% ถึง 20% ของพนักงานในปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 40,212 คน การปลดพนักงานทั้งหมดในครั้งนี้จะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2026 สาเหตุจากนโยบายปรับลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ การปรับลดโครงสร้างธุรกิจ และการควบรวมธุรกิจทั้งนอกเครือและในเครือ

เชฟรอนต้องเผชิญกับความล่าช้าอย่างมากกับโครงการลงทุนน้ำมันดิบในประเทศคาซัคสถาน ซึ่งส่งผลต่องบประมาณเพิ่มสูงมากกว่าที่ได้กำหนดไว้ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนในประเทศดังกล่าวมากเกินความจำเป็น นอกจากนี้โครงการลงทุนในลักษณะเดียวกันในประเทศกายอานาในอเมริกาใต้ยังคงไม่มีความชัดเจน และตกอยู่ในความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากยังคงมีคดีความกับบริษัทเอ็กซ์ซ่อน ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา

นายไมค์ เวิร์ธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ กล่าวว่าสำหรับการปรับลดต้นทุนในครั้งนี้เชฟรอนประเมินว่าจะมีต้นทุนราว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 102,000 ล้านบาท ด้านผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 เมื่อปีผ่านไป ปรากฏรายได้มีผลกระทบจากกำไรที่อ่อนแอลงมากในธุรกิจผลิตน้ำมันเบนซิน และดีเซล ทำให้ผลประกอบการกลุ่มธุรกิจการกลั่นน้ำมันของเชฟรอนขาดทุนในไตรมาส 4 เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี หรือตั้งแต่ปี 2020

ด้านสต็อกปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของเชฟรอนลดลงต่ำสุดอย่างน้อยในรอบกว่า 10 ปีผ่านมา ส่งผลให้กลายเป็นข้อกังวลทั้งฝ่ายบริหาร และนักลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มและอนาคตของธุรกิจพลังงานของเชฟร่อนถ้าหากเชฟร่อนประสบความล้มเหลวในการควบรวมกิจการกับเฮสส์ นั่นจะส่งผลให้ กลายเป็นการเจรจาควบรวมธุรกิจที่ประสบความล้มเหลวครั้งที่ 2 ภายใต้การนำของ ซีอีโอคนปัจจุบัน โดยในปี 2019 ผ่านไปเชฟรอนตัดสินใจยุตติการควบรวมกิจการ ด้วยการซื้อบริษัทอนาดาร์โก้ ปิโตรเลียม คอร์ป เนื่องจากคู่แข่งคือบริษัทอ็อกซิเดนทัล ปิโตรเลียม ได้เสนอราคาซื้อกิจการที่สูงกว่าเชฟร่อน

ทั้งนี้อุตสาหกรรมพลังงาน โดยเฉพาะธุรกิจผลิตน้ำมันในประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องเข้าสู่ยุคที่มีการลดขนาดของธุรกิจและแข่งขันในแง่ประสิทธิภาพของการบริหารงานและรายได้ ในขณะเดียวกันเป็นที่ทราบกันดีว่าในธุรกิจน้ำมันของสหรัฐอเมริกาจะต้องเน้นยุทธศาสตร์ในการควบรวม และประสิทธิภาพในการผลิต มากกว่าที่จะเป็นการสำรวจแหล่งผลิตน้ำมันดิบใหม่ กลางต้นทุนที่สูงขึ้นต่อเนื่องและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐมีการชะลอตัวในช่วงหลายปีผ่านมา

สำหรับเชฟรอนในประเทศไทยนั้น เชฟรอนได้ดำเนินภารกิจการสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซในอ่าวไทย รวมถึงการผลิตเชื้อเพลิงและการขายปลีกภายใต้แบรนด์คาลเท็กซ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 เชฟรอนเป็นบริษัทน้ำมันแห่งแรกที่ได้รับสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทย ใน พ.ศ. 2505 หลังจากนั้น 11 ปีต่อมา เชฟรอนได้ประสบความสำเร็จในการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์อีกทศวรรษให้หลัง

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2567 เชฟรอนขายธุรกิจการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้เสร็จสิ้นลง ปัจจุบัน ธุรกิจการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้แบรนด์คาลเท็กซ์ในประเทศไทยยังคงดำเนินการต่อไปโดยบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของและรับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการประกอบธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้ชื่อคาลเท็กซ์ในประเทศไทย

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles