ดร. ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Research เปิดเผยว่า ปัญหาของไทยนอกจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ ทำให้การหาเงินไม่ง่ายเหมือนอดีต โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงเร็ว เข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ ทำให้ไทยมีผู้สูงวัยมากที่สุดในอาเซียน รัฐมีภาระที่ต้องใช้จ่ายในการดูแลสวัสดิการสูงขึ้น ฐานคนเสียภาษีมีน้อยลง คนในระบบต้องแบกภาระมากขึ้น คนไทย 70 ล้านคน มีคนในระบบ 40 ล้านคน แต่อยู่ในระบบภาษี 10 ล้านคน เหลือคนจ่ายภาษีจริงๆ แค่เพียง 4 ล้านคนเท่านั้น ถ้าคนไทยขาดความรู้ทางการเงิน ภาระของคนวันเดอะแบก หรือคนไทยเจนวาย(Y) จะยิ่งหนักขึ้น เพราะพวกเขาช่วยแบกเศรษฐกิจในช่วงที่มีเรี่ยวแรงในการทำงาน และรัฐต้องใช้เงินดูแลพวกเขายามเกษียณ
รายงานผลสำรวจของนิด้าโพลพบว่า คนไทย 44% ไม่อยากมีลูก เหตุผลจากไม่ต้องการมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระ ผู้คนครองตัวเป็นโสด และใช้ชีวิตคู่แบบไม่มีลูกเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีลูกแล้วจะจับจ่ายใช้สอยได้ตามใจ ไม่ต้องคิดถึงอนาคต แต่ยังเตรียมความพร้อมเพื่อจะดูแลตัวเองไปตลอดชีวิตด้วย เพราะปัจจุบันสวัสดิการของรัฐก็ไม่ได้สามารถดูแลได้ดีนัก
ดร. ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Research เปิดเผยต่อไปว่า คนไทยยังขาดความรู้ด้านการเงิน มีความรู้การเงินน้อย ภาวะหนี้ครัวเรือนเมื่อก่อนอยู่ที่ 40-50% ของจีดีพี ตอนนี้กลายเป็น 90% ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับโควิดทั้งหมด แต่ก่อนโควิดก็อยู่ในระดับสูงถึง 80% แล้ว ภาระหนี้คนของคนไทยจากการสำรวจโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ยังพบว่า คนเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้เกินตัวโดยไม่ประเมินว่าแบกรับไหวหรือไม่ ก่อนตัดสินใจสร้างหนี้ และเป็นหนี้นาน หลายคนเกษียณก็ยังเป็นหนี้ โดยมีตัวเลขเฉลี่ยหนี้อยู่ที่ 400,000 บาทต่อคน
ผลสำรวจจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับเกษียณ และคนไทย 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท ไม่ว่าจะวางแผนว่าจะมีลูกหรือไม่ก็ต้องดูแลตัวเองให้ได้ ความรู้เรื่องการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรมีพื้นฐานความรู้ทั้งเรื่องการเงินส่วนบุคคล ทั้งเรื่องดอกเบี้ย การวางแผนภาษี ความรู้ด้านการลงทุนที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินเฉยๆ การบริหารจัดการหนี้ การบริหารความเสี่ยง การลงทุน ไปจนถึงบริหารความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เป็นภาระคนข้างหลัง และป้องกันตัวเองจากภัยทางการเงินด้วย