นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยการประเมินแนวโน้ม 46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 5 ภูมิภาค ในปี 2567 พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นมี 22 กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะทรงตัวมีทั้งหมด 11 กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะชะลอตัวลง 13 กลุ่มอุตสาหกรรม สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทย พบว่าอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อไป
ส่วนอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ คาดว่าจะทรงตัว มีเพียงอุตสาหกรรมในภาคกลางคาดว่าจะชะลอตัวลง
สำหรับ 13 อุตสาหกรรมคาดว่าชะลอตัวลง ได้แก่ ก๊าซ ปิโตรเคมี แกรนิตและหินอ่อน เฟอร์นิเจอร์ หลังคาและอุปกรณ์ หนังและผลิตภัณฑ์หนัง แก้วและกระจก ไฟฟ้าอิเลกทรอนิคส์ หัตถกรรมสร้างสรรค์ เซรามิก สมุนไพร น้ำตาล และสิ่งทอ
สำหรับ 22 อุตสาหกรรมคาดว่าจะขยายตัวต่อไป ได้แก่ การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ปูนซิเมนต์ พลาสติก เยื่อกระดาษ อัญมณี การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ดิจิทัล เครื่องมือแพทย์ ยา รองเท้า อาหารและเครื่องดื่ม แอร์ ต่อและซ่อมเรือ ผู้ผลิตไฟฟ้า ยาง โรงกลั่นน้ำมัน เครื่องสำอาง เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานหมุนเวียน โรงเลื่อยและโรงอบไม้ และยานยนต์
สำหรับ 11 อุตสาหกรรมที่คาดการณ์ว่าจะทรงตัว ได้แก่ เคมี น้ำมันปาล์ม หล่อโลหะ เครื่องจักรกลเกษตร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เหล็ก เครื่องจักรกล ไม้อัดและไม้บาง อลูมิเนียม สำรวจและผลิตปิโตรเคมี และเครื่องนุ่งห่ม
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยบวกที่สนับสนุนการส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้แก่ ความต้องการสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ต่อมาเป็นเป้าหมายการบรรลุความตกลงการค้าเสรี (FTA) ได้ภายในปี 2567 เช่น ไทย-ศรีลังกา ,ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) รวมถึงการเร่งเจรจา FTA ไทย-อียู (EU) และไทย-กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ให้สำเร็จโดยเร็ว จะช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างมาก ความผันผวนของค่าเงินบาทที่อยู่ในระดับต่ำ และมีอัตราเหมาะสมทั้งผู้ส่งออก/ผู้นำเข้า
แนวโน้มคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป จีน เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มอ่าวอาหรับ GCC ผู้ประกอบการได้มีการลงทุนใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เนื่องจากมีราคาที่ถูกลงโดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ เพื่อลดต้นทุนด้านค่าไฟฟ้า และปัจจัยสุดท้าย คือ ทิศทางราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงจากปัญหาขาดแคลนที่คลี่คลาย และมีการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบใหม่ทดแทน
ปัจจัยลบที่น่ากังวล ซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรม ได้แก่ ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูงและปัญหาหนี้ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์และสงครามในรัสเซีย-ยูเครน, อิสราเอล-กลุ่มฮามาส ยืดเยื้อกระทบต่อราคาพลังงานโลกเพิ่มขึ้น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่สูงเกินไป ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต
ต้นทุนทางการเงินยังอยู่ในระดับสูงจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น และความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ผลกระทบจากสินค้าที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาตีตลาดลูกค้าในกลุ่มอาเซียน กระทบต่อการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTM/NTB) เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM)