ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า แม้เม็ดเงินกระตุ้น เศรษฐกิจจีน จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่ในปี 2568 เศรษฐกิจจีนยังเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน ดังนี้
สงครามการค้ารอบใหม่ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นตลอดทั้งปี ปัจจุบันสหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนแล้วทั้งหมด 20% นอกจากนี้ ประเทศอื่น ๆ เช่น เม็กซิโก ยังมีท่าทีจะขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนด้วยเช่นกัน โดยล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอของการเร่งส่งออก
การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีทิศทางชะลอกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภคในประเทศ แม้ทางการจะทยอยออกมาตรกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ระดับราคาที่อยู่อาศัย ยอดขาย และการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังปรับลดลง ซึ่งความมั่งคั่งของครัวเรือนในจีนอยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ราว 70%
ปัญหาเงินฝืดยังเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคการบริโภค ในการประชุมสองสภาของจีนได้ปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2568 ลงอยู่ที่ 2% สะท้อนว่าเงินเฟ้อจีนยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ โดยล่าสุดเงินเฟ้อในส่วนของภาคบริการที่เคยเป็นปัจจัยหนุนสำคัญของเงินเฟ้อจีนได้ปรับลดลง นอกจากนี้ สงครามการค้ารอบใหม่จะยิ่งกดดันความเสี่ยงด้านเงินฝืดของจีนผ่านราคาผู้ผลิตที่ยังปรับลดลง 29 เดือนติดต่อกัน
แผนการกระตุ้นการบริโภคล่าสุดเน้นผลในระยะยาว หลังการประชุมสองสภาทางการจีนได้ออกแผนกระตุ้นการบริโภค (Special Action Plan) ซึ่งรายละเอียดของนโยบายมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการบริโภคในประเทศ
ในแผนการกระตุ้นการบริโภค (Special Action Plan) ของทางการจีนได้ระบุถึงแผนในการส่งเสริมการบริโภคทั้งในส่วนของการให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมผ่านโครงการของเก่าแลกของใหม่ (Trade-in Program) และแนวทางการเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนผ่านสวัสดิการต่าง ๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
โครงการของเก่าแลกของใหม่ (Trade-in Program) จะช่วยสนับสนุนยอดค้าปลีกของจีนในปี 2568 โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ เป็นต้น ทั้งนี้ ทางการจีนจะใช้เงินจากการออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษจำนวน 300 พันล้านหยวนเพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ประเภทของสินค้าที่ทางการจีนให้การสนับสนุนเป็นสินค้าคงทนจึงอาจทำให้เกิดการเร่งใช้จ่าย และการชะลอตัวของการบริโภคในภายหลัง
แนวทางการเพิ่มรายได้ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาการเติบโตของรายได้ในจีนชะลอลง หลังมีการปรับลดเงินเดือนในบางภาคส่วน ทางการจีนจึงจะเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เช่น การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และการส่งเสริมการอบรมทักษะต่าง ๆ เป็นต้น การเพิ่มสวัสดิการเพื่อสนับสนุนให้เกิดความต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อลดอัตราการเก็บออมของครัวเรือน โดยระบุว่าจะมีการพัฒนาสวัสดิการสุขภาพ และการดูแลเด็ก แนวทางในการผลักดันด้านอื่น ๆ เช่น แนวโน้มการสนับสนุนการขยายแผน Visa-Free ให้กับประเทศต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแผนการกระตุ้นการบริโภคล่าสุดนั้นเน้นการปฏิรูปในระยะยาวมากกว่าการสนับสนุนให้เกิดการบริโภคในระยะสั้น ผลจากการมาตรการยังขึ้นอยู่กับรายละเอียดและเม็ดเงินในแต่ละโครงการเพิ่มเติม