สำนักนายกรัฐมนตรี ประเทศญี่ปุ่น รายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ในปี 2023 ของญี่ปุ่น พบว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี กลับชะลอตัวลงถึง -0.4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2022 นอกจากนี้ ยังเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 ในปี 2023 ที่ชะลอตัวมากถึง -3.3% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2022 ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ในเอเชีย เข้าสู่ภาวะถดถอยสมบูรณ์แบบ เนื่องจากตัวเลขจีดีพีชะลอตัวลงแดนลบถึง 2 ไตรมาสติดต่อกัน สาเหตุจากภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนตัดลดรายจ่ายลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เปิดเผยว่า ในปี 2023 มูลค่าขนาดเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 151.2 ล้านล้านบาท จากในปี 2012 ที่มีเคยมีขนาดเศรษฐกิจราว 6.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 226.8 ล้านล้านบาท หรือหดตัวลงถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 75.6 ล้านล้านบาทในช่วง 11 ปีผ่านมา สาเหตุจากมูลค่าเงินเยนที่เฉลี่ยลดลงต่อเนื่องจากที่เคยแข็งค่ามากถึงระดับ 80 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงหลายปีผ่านมานั้น ลงมาเหลือเฉลี่ยที่ 140 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในปีผ่านมา
นายฮิเดโอะ คูมาโนะ นักเศรษฐศาสตร์อำนวยการ สถาบันวิจัยชีวิตไดอิชิ ญี่ปุ่น เปิดเผยว่า สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ขนาดเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีมูลค่าลดลงเป็นผลจากค่าเงินเยนที่ร่วงอ่อนค่าในช่วงกว่า 2-3 ปีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน นั่นหมายถึง ในแง่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้มูลค่าขนาดเศรษฐกิจลดต่ำลงและมีผลให้ขนาดเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีขนาดเล็กลงจากเดิม ทุกวันนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีขนาดหดตัวลงจนกระทั่งเยอรมนีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลกกลับมีขนาดเพิ่มขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 ของโลกในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจเยอรมนีในปัจจุบันจะเผชิญกับปัจจัยลบที่ไม่แตกต่างกันก็ตาม
อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐในวันนี้ยังคงร่วงอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ที่สำคัญในช่วงเช้าผ่านมาของวันนี้ 14 กุมภาพันธ์ 2024 ร่วงลงมาแตะระดับ 150.89 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้ เงินเยนร่วงลง 6.4% ต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี หลังจากก่อนหน้านี้ ในปี 2022 เงินเยนร่วงลงอย่างหนักต่ำสุดระหว่างปีมาแตะที่ระดับ 152 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติอ่อนค่าในรอบกว่า 30 ปี ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องแทรกแซงค่าเงินเยนอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม หากประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนี ซึ่งมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกันมาก เช่น ภาคอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก ประชากรเข้าสู่วัยชราชัดเจนและจะมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และภาวะการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตสินค้า ไม่รีบปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคต จะทำให้อินเดียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลกในปัจจุบันจะมีขนาดเพิ่มมากขึ้นถึงขั้นแซงเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2026 และแซงเศรษฐกิจเยอรมนีในปี 2027 มายืนอยู่ในอันดับ 3 ของโลก