ธนาคารโลก เปิดเผยว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2024 นี้จะชะลอตัวลงอย่างมากโดยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวแตะที่ระดับ 3.8% ซึ่งลดลงจากเศรษฐกิจโลกในปี 2023 ถึงเกือบ 37% เมื่อเทียบกับตัวเลขจีดีพีในปีที่แล้วที่เติบโตสูงถึง 5.8% สาเหตุจากมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจโลกซึ่งมาจากแต่ละประเทศในช่วงหลังจากวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ผ่อนคลายนั้น อ่อนแรงลงไปหมดอย่างสิ้นเชิง การลงทุนเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงต่อเนื่อง ภาวะโลกร้อนที่เพิ่มความเสี่ยงขึ้นอยู่ตลอดเวลาจนส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงและต่อเนื่องในปัจจุบัน และความท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่ปรับเปลี่ยนไม่ทันกับปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
ธนาคารโลก เปิดเผยต่อไปว่าหากปราศจากมาตรการอย่างฉับพลันเร่งด่วน จากรัฐบาลในแต่ละประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว เศรษฐกิจของแต่ละประเทศในภูมิภาคดังกล่าวจะต้องเผชิญกับภาวะยากลำบากในการแก้ไขปัญหาความยากจน ในเวลาเดียวกันจะเผชิญข้อจำกัดในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ใหม่ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะภาวะการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วภาวะการลงทุน ลดต่ำลงได้ในช่วง 7 ปีจากทั้งหมด 15 ปีที่ผ่านมา
ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ธนาคารโลกประเมินว่า การเติบโตด้านภาวะการลงทุนใน 11 ประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น คาดว่าจะมีอยู่เพียงแค่ 1% เมื่อถึงสิ้นสุดทศวรรษนี้ ตัวเลขดังกล่าวตกต่ำย่ำแย่อย่างมากเมื่อเทียบกับ ค่าเฉลี่ยที่ระดับ 4.2% ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2000 ถึง 2019
เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากมายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปีนั้น พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วจะสร้างความเสียหายให้กับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ 1.5% ของจีดีพีต่อปี นอกจากนี้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตกอยู่ในข้อจำกัดหรือต้องเผชิญกับ การบริหารจัดการสภาวะช็อกทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่นพายุไต้ฝุ่น พายุโซนร้อน ที่มีขนาดความรุนแรงจนส่งผลให้เกิดการทำลายล้างบ้านเรือนอาคารและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง