นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากรัฐบาลจะขึ้นราคา ค่าไฟ ฟ้าไปถึง 4.70 บาท จากทุกวันนี้คิดที่ 4.18 บาท ก็แย่อยู่แล้วการแข่งขันระหว่างประเทศของไทยเป็นเรื่องที่ทุกคนกังวล ขีดความสามารถการแข่งขันของไทยจะลดลงมากกว่าเดิม การส่งออกของไทยแข่งขันยากขึ้น สินค้าในประเทศไทยมีต้นทุนแพงขึ้นในขณะที่สินค้านำเข้าถูกมากกว่าอยู่แล้ว กลายเป็นถล่มสินค้าในประเทศหนักกว่าเดิม ปัญหาที่เคยคิดว่าจะได้รับการแก้ไข กลับทำให้สถานการณ์ทรุดหนักกว่าเดิม
การปรับขึ้นค่าไฟฟ้ารวมถึงราคาน้ำมัน ถือเป็นต้นทุนที่ส่งผลกระทบทางธุรกิจ หากดูเฉพาะค่าไฟที่รัฐบาลประกาศจะปรับขึ้นแน่นอน แนวโน้มสูงที่จะปรับขึ้นประมาณ 0.40-0.50 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ราคาขึ้นไปถึง 4.60-4.70 บาทต่อหน่วย นับเป็นการเพิ่มต้นทุนของธุรกิจกว่า 10% สำหรับอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบเป็นอุตสาหกรรมหนักในภาคการผลิตที่ใช้ไฟฟ้าเข้มข้น และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน ถูกกระทบแบบลดหลั่นกันมา
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เรื่องขึ้นค่าไฟฟ้าของไทยสวนทางประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทย โดยเฉพาะเวียดนาม ที่มีการคิดค่าไฟฟ้าราคา 2.70 บาท หรืออินโดนีเซีย ค่าไฟ 3.30 บาท หากต้นทุนปรับขึ้นสูงกว่าเดิมจนผู้ประกอบการแบกรับไม่ไหว ท้ายสุดแล้วก็ต้องส่งผ่านไปกับการขึ้นราคาสินค้า
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ได้เปิด 3 ทางเลือก ค่าไฟงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม โดยทางเลือกที่ 1 จ่ายคืนหนี้ กฟผ. ทั้งหมดภายในเดือนธันวาคมนี้ เมื่อบวกกับค่า Ft ค่าไฟจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย หรือ เพิ่มขึ้น 44% จากระดับ 4.18 บาทในปัจจุบัน
ทางเลือกที่ 2 แบ่งคืนหนี้ กฟผ. 3 งวด เมื่อบวกกับค่า Ft ค่าไฟจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย หรือ เพิ่มขึ้น 18% จากงวดปัจจุบัน และทางเลือกที่ 3 แบ่งคืนหนี้ กฟผ. 6 งวด บวกค่า Ft ค่าไฟจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย หรือ เพิ่มขึ้น 11% จากงวดปัจจุบัน
กกพ. จะนำทั้ง 3 แนวทางไปเปิดรับฟังความคิดเห็น ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ระหว่างวันที่ 12–26 กรกฎาคมนี้ ก่อนสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป โฆษก กกพ. เปิดเผย 3 สาเหตุที่ทำให้ค่าไฟสูงขึ้นมาก มาจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า บวกกับราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวปลายปี และการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหินที่มีต้นทุนถูก ผลิตได้ลดลง เมื่อรวมหนี้ที่ต้องจ่ายคืน กฟผ. ส่งผลให้ค่าไฟเพิ่มขึ้น 4.65–6.01 บาทต่อหน่วย จากงวดปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ซึ่งก็ต้องจับตาว่ารัฐบาลจะมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนหรือไม่